วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 6 ของทริป

วันนี้ตื่นเช้ามาก็ซื้อข้าวเหนียวอีกแล้ว เตรียมตัวเดินทางไปเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ความเป็นมาของคำว่า "ลับแล" นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่ เนื่องจากเป็นที่ ป่าดงหลบซ่อนตัวง่ายและภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในระหว่างเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมือง ถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย แต่ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านทำให้สภาพป่าหมดไป ความลึกลับของเมืองจึงหายไป ตำนานลับแลนี้ช่างลี้ลับเสียจริง เริ่มแรกเราไปกันที่บ้านไผ่ล้อม ต. ไผ่เขียว ดูลักษณะของบ้านพื้นถิ่นของลับแล บ้านเรือนที่นี่มีการใช้รั้วปลูกพืชสวนครัวรั้วกินได้ด้วยนะ

บ้านพื้นถิ่นของลับแล


แล้วก็ไปกันต่อที่วัดดอนสัก เราพักรับประทานอาหารกลางวันกันในศาลาการเปรียญของวัด และได้ถวายเทียนพรรษายุคใหม่แก่วัด เป็นหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ซะด้วยคนคิดนี่ช่างประยุกต์ได้เข้ากับยุคสมัยจริง ๆ  ความโดดเด่นของวัดนี้คือบานประตูวัด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีลวดลายสวยงาม ติดตั้งเป็นบานประตูสำหรับวิหารวัดดอนสักสถาปัตยกรรมเชียงแสนปนสุโขทัย ตัวเสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกนกก้ามปู บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายกนกต่าง ๆ มีความอ่อนช้อยสวยงาม โดยบานซ้ายและขวานั้นไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดบานแล้วลวดลายมีความลงตัวเข้ากันได้สนิท ดูแล้วสวยงามจริง ๆ หลังคาวิหารวัดนั้นใช้ไม้สีธรรมชาติตกแต่งทำให้ดูมีความงามจากธรรมชาติแท้จริง ลวดลายไม้ต่าง ๆ ถูกแกะสลักอย่างอ่อนช้อยสวยงามรับกับผนังปูนสีขาวอย่างลงตัว
วัดดอนสัก

จากนั้นก็ไปถ่ายรูปบ้านพื้นถิ่นต่อ

บ้านพื้นถิ่น

และก็ไปยังวัดท้องลับแล

วัดทองลับแล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

แต่เกิดฝนตกหนักจึงไม่ได้เข้าไปถ่ายด้านในวัด  ต้องรีบทำเวลา แต่ก็มีแวะถ่ายรูปบ้านในบริเวณใกล้ ๆ วัดก่อนขึ้นรถ และก็ไปดูบ้านพื้นถิ่นของอุตรดิตถ์ตามเส้นทางไปเรื่อย ๆ แต่ก็มีฝนตกอยู่เป็นระยะ ๆ จึงเดินทางกลับ วันนี้เป็นวันที่เย็นสบายมาก ๆ และได้กลับโรงแรมที่พักเร็วเนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศไม่ค่อยอำนวยซักเท่าไหร่ ( แต่ก็แอบดีใจที่วันนี้กลับเร็วกว่าทุกวัน ฮ่าๆๆ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น