วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 5 ของทริป

วันนี้ก็ตื่นเช้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอาหารเช้าและกลางวัน วันนี้ก็ซื้อข้าวเหนียวอีกเช่นเคย แล้วก็ออกเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  แต่ที่แรกที่ไปแวะคืออ่างเก็บน้ำสรีดภงส์หรือเรียกอีกชื่อว่าทำนบพระร่วง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านนอกอุทยานซึ่งเป็นพื้นที่เสมือนหลังคาที่รองรับน้ำฝนได้อีกด้วย

อ่างเก็บน้ำสรีดภงส์ หรือ ทำนบพระร่วง


ดูแล้วรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติที่โอบล้อมรอบตัวเรา อากาศบริสุทธิ์ เห็นท้องฟ้า ภูเขา แหล่งน้ำ ต้นไม้ ร่มรื่นชุ่มชื้นสบายตาและสบายใจมาก ๆ จนไม่อยากออกไปจากบริเวณนี้เลย ต่อมาก็ไปดูวัดในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยซึ่งวัดต่าง ๆ นั้นจะมีความงามจากหินศิลาแลงที่สมัยก่อนนำมาสร้างวัดซึ่งดูแล้วสวยงามมีคุณค่าของความเป็นโบราณสถานมีความเป็นระเบียบของการก่อเจดีย์แบบ wallbaring บ่งบอกถึงความตั้งใจและพยายามในการก่อสร้างของช่างไทยในสมัยสุโขทัย เริ่มจากวัดมังกรเป็นวัดแรก วัดนี้มีเจดีย์เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์  ส่วนของวิหารนั้นเห็นเพียงแต่เสาและพระพุทธรูปที่เหลือคงอยู่ แต่มีสภาพผุพังไปตามกาลเวลา ต่อมาได้ไปยังวัดมหาธาตุ เป็นวัดใหญ่ และวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ เจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง  ขณะที่เดินถ่ายภาพนั้นรู้สึกถึงความกว้างใหญ่ของวัดแห่งนี้เพราะเห็นเจดีย์และมณฑปอยู่มากมาย ในอาณาบริเวณวัด

วัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย


จากนั้นก็ไปแวะพักรับประทานอาหารกลางวันกันที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย อยู่ใกล้วัดพระพายหลวง ภายในอาคารเป็นศูนย์ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองของโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

จากนั้นก็ไปต่อกันที่วัดพระพายหลวงเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลางของชุมชน โบราณสถานทเก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเป็นเขมรแบบบายน แต่พระพุทธรูปที่ยังคงอยู่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ปรักหักพังไปมากแล้ว ดูแล้วน่าเศร้าสะเทือนใจอย่างมาก แต่มันก็เป็นสภาพที่พังไปตามกาลเวลา

วัดพระพายหลวง


ต่อมาก็ไปยังวัดศรีชุม

วัดศรีชุม
องค์พระอจนะ
 
ลักษณะของวิหารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้าน ก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายในเป็นช่องที่เล็กมาก ๆ เข้าได้เฉพาะคนที่ตัวเล็กมาก ๆ ด้วย หากเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบ ๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปจะโผล่บนหลังคาวิหารมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ
                เพราะเหตุใดวิหารวัดศรีชุมจึงมีความเร้นลับซ่อนอยู่อย่างนี้ อ.จิมมี่ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงทรงพระปรีชาสามารถในด้านปลุกปลอบใจทหารหาญ และด้านอื่น ๆ อีกมาก เพราะผนังด้านข้างขององค์พระอจนะมีช่องเล็ก ๆ ถ้าหากใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องนี้ และพูดออกมาดัง ๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารจะต้องนึกว่าพระอจนะพูดได้ และเสียงพูดนั้นจะกังวานน่าเกรงขาม เพราะวิหารนี้ไม่มีหน้าต่าง แต่เดิมคงมีหลังคาเป็นรูปโค้งคล้ายโดม  ช่างเป็นเรื่องที่น่าทึ่งของคนในสมัยสุโขทัยเสียจริง!!

ความลับของวิหารวัดศรีชุม

ต่อมาก็เดินทางไปยังวัดศรีสวาย

วัดศรีสวาย

ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ รูปแบบศิลปะลพบุรี ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ดูแล้วนึกถึงพระปรางค์สามยอดเลย คงเพราะมีลักษณะของศิลปะลพบุรีนั่นเอง
จากนั้นก็เดินทางไปถ่ายรูปต่อตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับความเป็นพื้นถิ่นของบ้านเรือนใน จ.สุโขทัย ที่ผนังใช้วิชวลเส้นตั้ง-นอน มีการใช้ระนาบเล็ก-ใหญ่ตามความเหมาะสมจนเกิด space ที่สวยงามน่าประทับใจ จนพลบค่ำจึงเดินทางกลับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น