วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 7 ของทริป

วันนี้ก็อีกเช่นเคยเราก็ออกไปซื้อข้าวเหนียวหมูทอดอีกแล้ว ซื้อทุกวันจนแม่ค้าจำหน้าได้แล้วแน่ ๆ เลย เป็นอาหารสิ้นคิดไปซะแล้วเพราะสะดวกดี ชอบตรงที่เก็บไว้ได้นานกว่าอาหารกล่องด้วย และเดินทางไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เมื่อเข้าสู่อุทยานก็จะพบกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง และเรียกอีกชื่อว่า วัดพระปรางค์  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าศรีสัชนาลัย เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ และเป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรวิหาร มีโบราณสถานที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ลักษณะรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในสมัยอยุธยา  สัดส่วนการจัดวางผังของวัดนี้ดูมีความลงตัว เป็นสัดส่วนที่สวยงามดูมีระนาบและมีลำดับความสำคัญขององค์ประกอบต่าง ๆ ในวัด

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

จากนั้นไปต่อที่วัดโคกสิงคาราม เป็นโบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันเช่นเดียวกับวัดศรีสรรเพชญ์ ที่อยุธยา วิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง ผนังวิหารมีช่องแสง โบสถ์อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวิหาร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นภายในโบสถ์ปูด้วยศิลาแลง ความงามที่มองเห็นคือ การมองแบบวิชวล แสดงความเด่นชัดของเส้นระนาบทางตั้งและทางนอนอย่างกลมกลืนกัน

วัดโคกสิงคาราม

ระหว่างทางสู่วัดต่อไปก็มีแวะถ่ายรูปตามบ้านเรือนต่าง ๆ ในบริเวณที่รถวิ่งผ่านด้วย

บ้านเรือนชาวบ้าน

แล้วก็ไปหยุดที่วัดกุฎีราย โบราณสถานที่สำคัญของวัดคือมณฑปประกอบอาคาร (มณฑปวิหาร) ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง หลังคาใช้ศิลาแลงก่อเหลื่อมเข้าหากันเป็นทรงจั่วเลียนแบบเครือไม้  หน้าจั่วมีรอยบาก เพื่อเชื่อมหลังคาเครื่องไม้ของอาคาร ด้านหน้เามณฑปมีซุ้มประตูรูปโค้งกลีบบัวเป็นทางเข้าสู่ภายใน ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง

วัดกุฎีราย

จากนั้นก็แวะรับประทานอาหารกลางวัน และไปยังศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก เป็นเตาเผาถ้วยชามสังคโลกสมัยสุโขทัย ขนาดที่เห็นนั้นใหญ่มาก ๆ แถมเป็นเตาที่ลึกมากด้วยเครื่องปั้นดินเผาที่พบบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นประเภทถ้วยชามขนาดใหญ่

ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก

โครงสร้างหลังคาของที่นี่เป็นโครงสร้างเหล็กที่ดูแปลกตาดี ดูเหมือนโครงสร้างพันธะเคมี ฮ่าๆๆ

โครงสร้างหลังคาของศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก


แล้วเราก็ไปยังวัดเจดีย์เก้ายอด


สาเหตุที่มีชื่อนี้เป็นเพราะประกอบด้วยเจดีย์ประธาน มียอดเจดีย์อยู่ข้างบน 9 ยอด  อยู่บริเวณไหล่เขา  ซึ่งที่นี่ยุงเยอะมาก ๆ และเกาะแขนเกาะขาพร้อมกัดเราอยู่ตลอดเวลา สะบัดก็ไม่หนี โหดจริง ๆ  ทางขึ้นวัดด้านล่างเป็นบันไดหินต่อเนื่องขึ้นไป ก่อนถึงเขตฐานของวัด องค์ประกอบทุกอย่างเป็นศิลาแลงที่นำสายตาสู่เจดีย์  โดยที่มีธรรมชาติและบรรยากาศของภูเขาโอบล้อมรอบ ๆ บริเวณวัด เมื่อเดินไปรอบ ๆ ก็เห็นทางขึ้นวัดอยู่ถัดขึ้นไปเลยเดินขึ้นไปดู ก็เห็นวัดเจดีย์เอน

 
ที่มีชื่อนี้อาจเป็นเพราะเจดีย์ดูเหมือนเอนล่ะมั้ง อิอิ แล้วเราก็เดินขึ้นเขาต่อไปอีกก็พบวัดเขาใหญ่ล่าง

และวัดเขาใหญ่บนที่อยู่ขึ้นไปอีกซึ่งน่าเสียดายที่วัดนี้ปรักหักพังไปมากแล้ว เจดีย์ก็ยอดได้หายไปแล้ว น่าเสียดายจัง


จากนั้นก็ไปเดินลุยในเขตป้อมและประตูรามณรงค์ ดูวัดนางพญา


เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก ปรากฏอยู่บนซากผนังวิหารเจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นจนถึงภายในโถงเจดีย์ ตรงกลางโถงมีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น วิหารก่อด้วยศิลาแลง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ซึ่งลวดลายที่ยังคงประกฏอยู่นั้นดูแล้วสวยงามมาก

จากนั้นเราก็เดินกันต่อไปจนถึงวัดสวนแก้ว

วัดนี้ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเช่นกัน โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง ปัจจุบันองค์ระฆังได้พังทลายลง ด้านหน้ามีบันไดขึ้นไปจากมุขหลังของวิหารไปถึงเรือนธาตุเพื่อสักการะพระพุทธรูป ด้านเจดีย์ประธานมีวิหาร มีมุขด้านหน้า และด้านหลัง มีบันไดขึ้น 5 ทาง เสาวิหาร และกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง วัดนี้เป็นวัดที่มีบริเวณวัดกว้างขวางมาก 

และเดินชมโบราณสถานภายในอุทยานไปเรื่อย ๆ

จากนั้นก็เดินไปรอขึ้นรถกลับสู่โรงแรม ระหว่างทางก็ผ่านฝูงนกที่มีรังอยู่บนเขา มองเห็นฝูงนกเยอะมาก
 การมาอุทยานประวัติศาสตร์สัสัชนาลัยในวันนี้ได้ดูวัดเยอะมากจริง ๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น