วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 8 ของทริป

วันนี้มุ่งหน้าสู่บ้านอ.ตี๋ที่กงไกรลาศพร้อมกับข้าวเหนียวหมูทอดคู่ชีพ เมื่อถึงละแวกบ้าน อ.ตี๋ก็พบกับบ้านพื้นถิ่นของกงไกรลาศ เป็นบ้านแพกคู่ คือ 2 หลังรวมกันหลังคาเดียว หลังคาก็มีความพิเศษคือเป็นหลังคามุงสังกะสีทรงปั้นหยา แสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านพื้นถิ่นที่นี่จริง ๆ



เมื่อถึงบ้าน อ.ตี๋ ก็พบความน่ารักของการใช้วัสดุไม้ประดิษฐ์ของตกแต่งบ้านได้อย่างน่ารักมากมาย




การจัดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านดูเป็นสัดส่วนที่ลงตัว และมีความต่อเนื่องของพื้นที่และปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานได้ตามความต้องการ

 
เมื่อออกไปที่หลังบ้าน จะพบสวนขนาดใหญ่ที่ถูกจัดได้สวยงามมีระเบียบ น่านั่งเล่นมาก มีที่เหมาะสำหรับนั่งชิล ๆ กับการจัดเลี้ยงหรือชวนเพื่อนพ้องและครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันที่นี่ เมื่อได้ออกไปนั่งเล่นในสวนแล้วก็ไม่อยากจะลุกไปไหนเลย





จากนั้นก็เดินดูบ้านในละแวกนั้นและกลับมารับประทานอาหารกลางวันที่บ้าน อ.ตี๋เตรียมไว้ให้ (รู้งี้ไม่น่าซื้อข้าวเหนียวหมูทอดไว้เลย) จากนั้นเราก็ไปกันต่อที่สนามบินสุโขทัยที่เป็นสนามบินพาณิชย์ของบริษัท บางกอกแอร์เวย์ เมื่อไปถึงก็พบกับอาคารผู้โดยสารของสนามบินที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไทยที่ไม่เหมือนสนามบินใดในโลก เป็นอาคารชั้นเดียว ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ แต่มีความหรูหรามาก ๆ ของการตกแต่งอาคาร ออกแบบ โดยบริษัท แฮบบิต้า ซึ่งดึงเอาเอกลักษณ์ของหลังคาทรงไทย สมัยสุโขทัยมาใช้ รวมถึงใช้เจดีย์ทรงสุโขทัยเขามามีส่วนร่วมในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์และความประทับใจของผู้โดยสาร



อาคารเปิดโล่งรับลมมีลักษณะเป็นศาลาเนื่องจากสุโขทัยมีฝนตกน้อย มีพี่ ๆ พานั่งรถรางชมบริเวณรอบๆ สนามบิน ซึ่งสนามบินนี้ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศอย่างเต็มที่ และยึดถือหลักความพอเพียงของในหลวงในการบริหารโครงการมีการทำการเกษตร ปลูกพืชพรรณไม้เพื่อใช้ในการตกแต่งสวนหย่อมต่าง ๆ ในสนามบิน มีเรือนเพาะกล้วยไม้เป็นพืชส่งออกไปขายยังต่างประเทศที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย มีการปลูกข้าว เลี้ยงควาย ด้วยแนวคิดใหม่ของเจ้าของสายการบิน  คือการพัฒนาและจัดการครบวงจร ทำให้สร้างอาชีพแก่คนในชุมชน มีส่วนของพื้นที่สำหรับจอดจักรยาน สนามกีฬาชนิดต่าง ๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ไทยและพิพิธภัณฑ์จีน (รึเปล่านะ)



และเราก็ได้ไปชมโรงแรมที่อยู่ในเครือบางกอกแอร์เวย์ คือ โรงแรม สุโขทัยเฮอร์ริเทจ โดยดึงเอาเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทย สมัยสุโขทัย คือด้านหน้าเป็นอาคารก่อด้วยกำแพงหนา หลังคาทรงสุโขทัย ซุ้มประตูทางเข้าเป็นซุ้มประตูปูนปั้นสีขาว ด้านในเป็นอาคาร 2 ชั้นและแบ่งอาคารเป็น 2 ฝั่งมีการนำสระบัวและศาลากลางนำมาใช้เป็นโถงต้อนรับ ทำให้เกิดความรู้ศึกความเป็นไทยที่สัมพันธ์กับน้ำ ดูแล้วสวยงามน่ามาพักผ่อนมาก ๆ ฝ้าเพดานโถงตกแต้งด้วยโคมไฟน่ารัก ๆ มากมาย ดูทันสมัยแต่แฝงอยู่ในความเป็นไทย



จากนั้นเราก็ไปทานอาหารว่างกันและออกเดินทางต่อสู่หมู่บ้านที่ศรีสัชนาลัย เพื่อดูความงามของบ้านพื้นถิ่นจนพระอาทิตย์ตกดิน จึงเดินทางกลับสู่ที่พัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น