วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 8 ของทริป

วันนี้มุ่งหน้าสู่บ้านอ.ตี๋ที่กงไกรลาศพร้อมกับข้าวเหนียวหมูทอดคู่ชีพ เมื่อถึงละแวกบ้าน อ.ตี๋ก็พบกับบ้านพื้นถิ่นของกงไกรลาศ เป็นบ้านแพกคู่ คือ 2 หลังรวมกันหลังคาเดียว หลังคาก็มีความพิเศษคือเป็นหลังคามุงสังกะสีทรงปั้นหยา แสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านพื้นถิ่นที่นี่จริง ๆ



เมื่อถึงบ้าน อ.ตี๋ ก็พบความน่ารักของการใช้วัสดุไม้ประดิษฐ์ของตกแต่งบ้านได้อย่างน่ารักมากมาย




การจัดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านดูเป็นสัดส่วนที่ลงตัว และมีความต่อเนื่องของพื้นที่และปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานได้ตามความต้องการ

 
เมื่อออกไปที่หลังบ้าน จะพบสวนขนาดใหญ่ที่ถูกจัดได้สวยงามมีระเบียบ น่านั่งเล่นมาก มีที่เหมาะสำหรับนั่งชิล ๆ กับการจัดเลี้ยงหรือชวนเพื่อนพ้องและครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันที่นี่ เมื่อได้ออกไปนั่งเล่นในสวนแล้วก็ไม่อยากจะลุกไปไหนเลย





จากนั้นก็เดินดูบ้านในละแวกนั้นและกลับมารับประทานอาหารกลางวันที่บ้าน อ.ตี๋เตรียมไว้ให้ (รู้งี้ไม่น่าซื้อข้าวเหนียวหมูทอดไว้เลย) จากนั้นเราก็ไปกันต่อที่สนามบินสุโขทัยที่เป็นสนามบินพาณิชย์ของบริษัท บางกอกแอร์เวย์ เมื่อไปถึงก็พบกับอาคารผู้โดยสารของสนามบินที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไทยที่ไม่เหมือนสนามบินใดในโลก เป็นอาคารชั้นเดียว ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ แต่มีความหรูหรามาก ๆ ของการตกแต่งอาคาร ออกแบบ โดยบริษัท แฮบบิต้า ซึ่งดึงเอาเอกลักษณ์ของหลังคาทรงไทย สมัยสุโขทัยมาใช้ รวมถึงใช้เจดีย์ทรงสุโขทัยเขามามีส่วนร่วมในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์และความประทับใจของผู้โดยสาร



อาคารเปิดโล่งรับลมมีลักษณะเป็นศาลาเนื่องจากสุโขทัยมีฝนตกน้อย มีพี่ ๆ พานั่งรถรางชมบริเวณรอบๆ สนามบิน ซึ่งสนามบินนี้ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศอย่างเต็มที่ และยึดถือหลักความพอเพียงของในหลวงในการบริหารโครงการมีการทำการเกษตร ปลูกพืชพรรณไม้เพื่อใช้ในการตกแต่งสวนหย่อมต่าง ๆ ในสนามบิน มีเรือนเพาะกล้วยไม้เป็นพืชส่งออกไปขายยังต่างประเทศที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย มีการปลูกข้าว เลี้ยงควาย ด้วยแนวคิดใหม่ของเจ้าของสายการบิน  คือการพัฒนาและจัดการครบวงจร ทำให้สร้างอาชีพแก่คนในชุมชน มีส่วนของพื้นที่สำหรับจอดจักรยาน สนามกีฬาชนิดต่าง ๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ไทยและพิพิธภัณฑ์จีน (รึเปล่านะ)



และเราก็ได้ไปชมโรงแรมที่อยู่ในเครือบางกอกแอร์เวย์ คือ โรงแรม สุโขทัยเฮอร์ริเทจ โดยดึงเอาเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทย สมัยสุโขทัย คือด้านหน้าเป็นอาคารก่อด้วยกำแพงหนา หลังคาทรงสุโขทัย ซุ้มประตูทางเข้าเป็นซุ้มประตูปูนปั้นสีขาว ด้านในเป็นอาคาร 2 ชั้นและแบ่งอาคารเป็น 2 ฝั่งมีการนำสระบัวและศาลากลางนำมาใช้เป็นโถงต้อนรับ ทำให้เกิดความรู้ศึกความเป็นไทยที่สัมพันธ์กับน้ำ ดูแล้วสวยงามน่ามาพักผ่อนมาก ๆ ฝ้าเพดานโถงตกแต้งด้วยโคมไฟน่ารัก ๆ มากมาย ดูทันสมัยแต่แฝงอยู่ในความเป็นไทย



จากนั้นเราก็ไปทานอาหารว่างกันและออกเดินทางต่อสู่หมู่บ้านที่ศรีสัชนาลัย เพื่อดูความงามของบ้านพื้นถิ่นจนพระอาทิตย์ตกดิน จึงเดินทางกลับสู่ที่พัก

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 7 ของทริป

วันนี้ก็อีกเช่นเคยเราก็ออกไปซื้อข้าวเหนียวหมูทอดอีกแล้ว ซื้อทุกวันจนแม่ค้าจำหน้าได้แล้วแน่ ๆ เลย เป็นอาหารสิ้นคิดไปซะแล้วเพราะสะดวกดี ชอบตรงที่เก็บไว้ได้นานกว่าอาหารกล่องด้วย และเดินทางไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เมื่อเข้าสู่อุทยานก็จะพบกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง และเรียกอีกชื่อว่า วัดพระปรางค์  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าศรีสัชนาลัย เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ และเป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรวิหาร มีโบราณสถานที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ลักษณะรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในสมัยอยุธยา  สัดส่วนการจัดวางผังของวัดนี้ดูมีความลงตัว เป็นสัดส่วนที่สวยงามดูมีระนาบและมีลำดับความสำคัญขององค์ประกอบต่าง ๆ ในวัด

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

จากนั้นไปต่อที่วัดโคกสิงคาราม เป็นโบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันเช่นเดียวกับวัดศรีสรรเพชญ์ ที่อยุธยา วิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง ผนังวิหารมีช่องแสง โบสถ์อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวิหาร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นภายในโบสถ์ปูด้วยศิลาแลง ความงามที่มองเห็นคือ การมองแบบวิชวล แสดงความเด่นชัดของเส้นระนาบทางตั้งและทางนอนอย่างกลมกลืนกัน

วัดโคกสิงคาราม

ระหว่างทางสู่วัดต่อไปก็มีแวะถ่ายรูปตามบ้านเรือนต่าง ๆ ในบริเวณที่รถวิ่งผ่านด้วย

บ้านเรือนชาวบ้าน

แล้วก็ไปหยุดที่วัดกุฎีราย โบราณสถานที่สำคัญของวัดคือมณฑปประกอบอาคาร (มณฑปวิหาร) ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง หลังคาใช้ศิลาแลงก่อเหลื่อมเข้าหากันเป็นทรงจั่วเลียนแบบเครือไม้  หน้าจั่วมีรอยบาก เพื่อเชื่อมหลังคาเครื่องไม้ของอาคาร ด้านหน้เามณฑปมีซุ้มประตูรูปโค้งกลีบบัวเป็นทางเข้าสู่ภายใน ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง

วัดกุฎีราย

จากนั้นก็แวะรับประทานอาหารกลางวัน และไปยังศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก เป็นเตาเผาถ้วยชามสังคโลกสมัยสุโขทัย ขนาดที่เห็นนั้นใหญ่มาก ๆ แถมเป็นเตาที่ลึกมากด้วยเครื่องปั้นดินเผาที่พบบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นประเภทถ้วยชามขนาดใหญ่

ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก

โครงสร้างหลังคาของที่นี่เป็นโครงสร้างเหล็กที่ดูแปลกตาดี ดูเหมือนโครงสร้างพันธะเคมี ฮ่าๆๆ

โครงสร้างหลังคาของศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก


แล้วเราก็ไปยังวัดเจดีย์เก้ายอด


สาเหตุที่มีชื่อนี้เป็นเพราะประกอบด้วยเจดีย์ประธาน มียอดเจดีย์อยู่ข้างบน 9 ยอด  อยู่บริเวณไหล่เขา  ซึ่งที่นี่ยุงเยอะมาก ๆ และเกาะแขนเกาะขาพร้อมกัดเราอยู่ตลอดเวลา สะบัดก็ไม่หนี โหดจริง ๆ  ทางขึ้นวัดด้านล่างเป็นบันไดหินต่อเนื่องขึ้นไป ก่อนถึงเขตฐานของวัด องค์ประกอบทุกอย่างเป็นศิลาแลงที่นำสายตาสู่เจดีย์  โดยที่มีธรรมชาติและบรรยากาศของภูเขาโอบล้อมรอบ ๆ บริเวณวัด เมื่อเดินไปรอบ ๆ ก็เห็นทางขึ้นวัดอยู่ถัดขึ้นไปเลยเดินขึ้นไปดู ก็เห็นวัดเจดีย์เอน

 
ที่มีชื่อนี้อาจเป็นเพราะเจดีย์ดูเหมือนเอนล่ะมั้ง อิอิ แล้วเราก็เดินขึ้นเขาต่อไปอีกก็พบวัดเขาใหญ่ล่าง

และวัดเขาใหญ่บนที่อยู่ขึ้นไปอีกซึ่งน่าเสียดายที่วัดนี้ปรักหักพังไปมากแล้ว เจดีย์ก็ยอดได้หายไปแล้ว น่าเสียดายจัง


จากนั้นก็ไปเดินลุยในเขตป้อมและประตูรามณรงค์ ดูวัดนางพญา


เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก ปรากฏอยู่บนซากผนังวิหารเจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นจนถึงภายในโถงเจดีย์ ตรงกลางโถงมีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น วิหารก่อด้วยศิลาแลง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ซึ่งลวดลายที่ยังคงประกฏอยู่นั้นดูแล้วสวยงามมาก

จากนั้นเราก็เดินกันต่อไปจนถึงวัดสวนแก้ว

วัดนี้ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเช่นกัน โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง ปัจจุบันองค์ระฆังได้พังทลายลง ด้านหน้ามีบันไดขึ้นไปจากมุขหลังของวิหารไปถึงเรือนธาตุเพื่อสักการะพระพุทธรูป ด้านเจดีย์ประธานมีวิหาร มีมุขด้านหน้า และด้านหลัง มีบันไดขึ้น 5 ทาง เสาวิหาร และกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง วัดนี้เป็นวัดที่มีบริเวณวัดกว้างขวางมาก 

และเดินชมโบราณสถานภายในอุทยานไปเรื่อย ๆ

จากนั้นก็เดินไปรอขึ้นรถกลับสู่โรงแรม ระหว่างทางก็ผ่านฝูงนกที่มีรังอยู่บนเขา มองเห็นฝูงนกเยอะมาก
 การมาอุทยานประวัติศาสตร์สัสัชนาลัยในวันนี้ได้ดูวัดเยอะมากจริง ๆ


วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 6 ของทริป

วันนี้ตื่นเช้ามาก็ซื้อข้าวเหนียวอีกแล้ว เตรียมตัวเดินทางไปเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ความเป็นมาของคำว่า "ลับแล" นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่ เนื่องจากเป็นที่ ป่าดงหลบซ่อนตัวง่ายและภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในระหว่างเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมือง ถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย แต่ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านทำให้สภาพป่าหมดไป ความลึกลับของเมืองจึงหายไป ตำนานลับแลนี้ช่างลี้ลับเสียจริง เริ่มแรกเราไปกันที่บ้านไผ่ล้อม ต. ไผ่เขียว ดูลักษณะของบ้านพื้นถิ่นของลับแล บ้านเรือนที่นี่มีการใช้รั้วปลูกพืชสวนครัวรั้วกินได้ด้วยนะ

บ้านพื้นถิ่นของลับแล


แล้วก็ไปกันต่อที่วัดดอนสัก เราพักรับประทานอาหารกลางวันกันในศาลาการเปรียญของวัด และได้ถวายเทียนพรรษายุคใหม่แก่วัด เป็นหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ซะด้วยคนคิดนี่ช่างประยุกต์ได้เข้ากับยุคสมัยจริง ๆ  ความโดดเด่นของวัดนี้คือบานประตูวัด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีลวดลายสวยงาม ติดตั้งเป็นบานประตูสำหรับวิหารวัดดอนสักสถาปัตยกรรมเชียงแสนปนสุโขทัย ตัวเสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกนกก้ามปู บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายกนกต่าง ๆ มีความอ่อนช้อยสวยงาม โดยบานซ้ายและขวานั้นไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดบานแล้วลวดลายมีความลงตัวเข้ากันได้สนิท ดูแล้วสวยงามจริง ๆ หลังคาวิหารวัดนั้นใช้ไม้สีธรรมชาติตกแต่งทำให้ดูมีความงามจากธรรมชาติแท้จริง ลวดลายไม้ต่าง ๆ ถูกแกะสลักอย่างอ่อนช้อยสวยงามรับกับผนังปูนสีขาวอย่างลงตัว
วัดดอนสัก

จากนั้นก็ไปถ่ายรูปบ้านพื้นถิ่นต่อ

บ้านพื้นถิ่น

และก็ไปยังวัดท้องลับแล

วัดทองลับแล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

แต่เกิดฝนตกหนักจึงไม่ได้เข้าไปถ่ายด้านในวัด  ต้องรีบทำเวลา แต่ก็มีแวะถ่ายรูปบ้านในบริเวณใกล้ ๆ วัดก่อนขึ้นรถ และก็ไปดูบ้านพื้นถิ่นของอุตรดิตถ์ตามเส้นทางไปเรื่อย ๆ แต่ก็มีฝนตกอยู่เป็นระยะ ๆ จึงเดินทางกลับ วันนี้เป็นวันที่เย็นสบายมาก ๆ และได้กลับโรงแรมที่พักเร็วเนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศไม่ค่อยอำนวยซักเท่าไหร่ ( แต่ก็แอบดีใจที่วันนี้กลับเร็วกว่าทุกวัน ฮ่าๆๆ )

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 5 ของทริป

วันนี้ก็ตื่นเช้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอาหารเช้าและกลางวัน วันนี้ก็ซื้อข้าวเหนียวอีกเช่นเคย แล้วก็ออกเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  แต่ที่แรกที่ไปแวะคืออ่างเก็บน้ำสรีดภงส์หรือเรียกอีกชื่อว่าทำนบพระร่วง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านนอกอุทยานซึ่งเป็นพื้นที่เสมือนหลังคาที่รองรับน้ำฝนได้อีกด้วย

อ่างเก็บน้ำสรีดภงส์ หรือ ทำนบพระร่วง


ดูแล้วรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติที่โอบล้อมรอบตัวเรา อากาศบริสุทธิ์ เห็นท้องฟ้า ภูเขา แหล่งน้ำ ต้นไม้ ร่มรื่นชุ่มชื้นสบายตาและสบายใจมาก ๆ จนไม่อยากออกไปจากบริเวณนี้เลย ต่อมาก็ไปดูวัดในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยซึ่งวัดต่าง ๆ นั้นจะมีความงามจากหินศิลาแลงที่สมัยก่อนนำมาสร้างวัดซึ่งดูแล้วสวยงามมีคุณค่าของความเป็นโบราณสถานมีความเป็นระเบียบของการก่อเจดีย์แบบ wallbaring บ่งบอกถึงความตั้งใจและพยายามในการก่อสร้างของช่างไทยในสมัยสุโขทัย เริ่มจากวัดมังกรเป็นวัดแรก วัดนี้มีเจดีย์เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์  ส่วนของวิหารนั้นเห็นเพียงแต่เสาและพระพุทธรูปที่เหลือคงอยู่ แต่มีสภาพผุพังไปตามกาลเวลา ต่อมาได้ไปยังวัดมหาธาตุ เป็นวัดใหญ่ และวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ เจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง  ขณะที่เดินถ่ายภาพนั้นรู้สึกถึงความกว้างใหญ่ของวัดแห่งนี้เพราะเห็นเจดีย์และมณฑปอยู่มากมาย ในอาณาบริเวณวัด

วัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย


จากนั้นก็ไปแวะพักรับประทานอาหารกลางวันกันที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย อยู่ใกล้วัดพระพายหลวง ภายในอาคารเป็นศูนย์ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองของโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

จากนั้นก็ไปต่อกันที่วัดพระพายหลวงเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลางของชุมชน โบราณสถานทเก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเป็นเขมรแบบบายน แต่พระพุทธรูปที่ยังคงอยู่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ปรักหักพังไปมากแล้ว ดูแล้วน่าเศร้าสะเทือนใจอย่างมาก แต่มันก็เป็นสภาพที่พังไปตามกาลเวลา

วัดพระพายหลวง


ต่อมาก็ไปยังวัดศรีชุม

วัดศรีชุม
องค์พระอจนะ
 
ลักษณะของวิหารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้าน ก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายในเป็นช่องที่เล็กมาก ๆ เข้าได้เฉพาะคนที่ตัวเล็กมาก ๆ ด้วย หากเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบ ๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปจะโผล่บนหลังคาวิหารมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ
                เพราะเหตุใดวิหารวัดศรีชุมจึงมีความเร้นลับซ่อนอยู่อย่างนี้ อ.จิมมี่ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงทรงพระปรีชาสามารถในด้านปลุกปลอบใจทหารหาญ และด้านอื่น ๆ อีกมาก เพราะผนังด้านข้างขององค์พระอจนะมีช่องเล็ก ๆ ถ้าหากใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องนี้ และพูดออกมาดัง ๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารจะต้องนึกว่าพระอจนะพูดได้ และเสียงพูดนั้นจะกังวานน่าเกรงขาม เพราะวิหารนี้ไม่มีหน้าต่าง แต่เดิมคงมีหลังคาเป็นรูปโค้งคล้ายโดม  ช่างเป็นเรื่องที่น่าทึ่งของคนในสมัยสุโขทัยเสียจริง!!

ความลับของวิหารวัดศรีชุม

ต่อมาก็เดินทางไปยังวัดศรีสวาย

วัดศรีสวาย

ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ รูปแบบศิลปะลพบุรี ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ดูแล้วนึกถึงพระปรางค์สามยอดเลย คงเพราะมีลักษณะของศิลปะลพบุรีนั่นเอง
จากนั้นก็เดินทางไปถ่ายรูปต่อตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับความเป็นพื้นถิ่นของบ้านเรือนใน จ.สุโขทัย ที่ผนังใช้วิชวลเส้นตั้ง-นอน มีการใช้ระนาบเล็ก-ใหญ่ตามความเหมาะสมจนเกิด space ที่สวยงามน่าประทับใจ จนพลบค่ำจึงเดินทางกลับ

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 4 ของทริป

สถานที่แรกของวันนี้ ไปที่วัดปงสนุก ( เหนือ-ใต้ )

วัดปงสนุก ( เหนือ-ใต้ )

ตัววิหารจะมีการยกระดับให้อยู่ความสูงประมาณชั้น 2 สร้างความโดดเด่นแก่วิหาร ที่มีมณฑปเป็นจัตุรัส การซ้อนชั้นที่ลีบเล็ก ตัวมณฑปเดิมถูกฉาบด้วยปูน ด้านในประดิษฐานพระพุทธเจ้า 4องค์เป็นศูนย์กลาง หันไปตามทิศต่างๆโดยยื่นแท่นออกมาทั้ง 4ทิศ มีต้นโพธิ์ตรงกลาง เป็นอาคารไม้ การคุมสัดส่วนของช่างสมัยก่อนลงตัว การคิดสัดส่วนของรูปด้าน หลังคาซ้อน 4ชั้น หรือเรียกชื่อมณฑปนี้ว่า วิหารพระเจ้าพันองค์ เสาคู่ หลังคาเชิด การแต่งลายที่เสาที่ตรงส่วนล่างไม่มีการแต่งเพื่อให้ดูลอยตัว เหมือนจำลองสวรรค์ หลังคาส่วนตรงกลางที่เป็นจัตุรัสมีการใช้กลอนเป็นจันทันเลยแต่ไม่แอ่นเหมือนกลอนทั่วไป เพื่อกันหลังคารั่ว ส่วนตรงด้านข้างรอบ ๆ มีการเชิดหลังคา  จากการซ่อมแซมมีการทำให้เหมือนของเดิมแต่มีบางส่วนที่ทำให้ต่างจากเดิมอยู่บ้าง แต่ก็ดูสวยงามมาก

วิหารวัด ภายในประดิษฐานพระพุทธเจ้า 4 องค์


 ด้านล่างวิหารวัดมีพิพิธภัณฑ์ด้วยนะ มีจัดแสดงผังและรายละเอียดก่อสร้างของวัด ขั้นตอนการก่อสร้างวัด และส่วนที่เป็นองค์ประกอบของการตกแต่งวัดชิ้นส่วนเดิมซึ่งตอนนี้ได้มีการสร้างใหม่ทดแทนแล้ว

พิพิธภัณฑ์ ด้านล่างของวิหารวัด


ต่อมาก็ไปยังวัดศรีรองเมือง ตอนที่ไปนี้กำลังมีการซ่อมแซมบูรณะวิหารวัดตรงส่วนหลังคาอยู่

วัดศรีรองเมือง


วัดศรีรองเมืองใช้สีแดงเป็นสีโทนหลัก


วัดนี้สร้างโดยคนไทยใหญ่ พม่า มอญ ร่วมกันสร้างวัด ที่เป็นทั้งศาลาการเปรียญ วิหาร และกุฏิ มีการซ้อนชั้นหลังคาหลายชั้น ในแต่ละชุดเชื่อมกันด้วยรางน้ำ เพื่อแบ่งความสำคัญให้เห็นได้ชัดเจน จากการลดระดับหลังคานี้เอง ช่างเป็นช่างพม่า ช่างเดียวกับที่ทำพระธาตุดอนเต้า ระเบียบจึงเป็นแบบพม่า มีการยกใต้ถุนสูงตามอาคารในเขตร้อนชื้น  การใช้กระจกสีสะท้อนแสงตามคติของพระไตรปิฎก ความแวววาว หรูหราฟุ่มเฟือย เป็นการจำลองวิมานของเทวดา ของการทำความดีชั่ว ใช้สีแดงเป็นสีโทนหลักดูเพิ่มความโดดเด่นให้กับวัด ถ้าได้เห็นตอนบูรณะเรียบร้อยแล้วคงจะสวยงามมากจริง ๆ จากนั้นก็เดินทางกลับไปยังบริเวณโรงแรมที่พักเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน วันนี้ได้กินข้าวซอยแล้ว หลังจากที่ตื่นสายไม่ได้กินมาตลอดจนนึกว่าจะไม่ได้ลองกินแล้วซะอีก  และก็เดินทางมุ่งสู่จังหวัดสุโขทัย ก็มีแวะลงไปถ่ายรูปตามหมู่บ้านที่อาจารย์จิ๋วอยากให้ได้ศึกษาลักษณะของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งบ้านเรือนก็มีความงามแบบวิชวลหลากหลาย มีลานโล่งที่เปิดเป็น space อย่างสวยงาม แต่ละหลังมีความแตกต่างกันไปเล็กน้อย เราแวะดูบ้านพื้นถิ่นไปเรื่อย ๆ จนพระอาทิตย์ตกดิน

บ้านพื้นถิ่น จ.สุโขทัย
 
 และเดินทางสู่ที่พักในโรงแรมสุโขทัย ห้องที่ได้พักมีปัญหากับแอร์ตลอดเวลา ที่สุโขทัยห้องพักแอร์เสีย ก่อนหน้านี้พักที่ลำปางก็น้ำแอร์รั่ว ฮ่าๆ

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 3 ของทริป

วันนี้ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อไปซื้อข้าวเหนียวหมูทอดเป็นอาหารเช้าและกลางวันไปด้วย
สถานที่แรกในวันนี้ที่พวกเราได้ไปคือ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม


เมื่อได้เดินเข้าไปด้านในบริเวณวัด จะเห็นส่วนที่เป็นอุโบสถและวิหารหน้าเจดีย์วัดสุชาดาราม เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของล้านนา มีลานที่ปิดล้อมด้วยกำแพงเตี้ย ช่วยเสริมความโดดเด่นของโบสถ์วิหาร  มีระนาบการซ้อนชั้นหลังคาแบบด้านหน้า2ชั้น ด้านหลัง3ชั้น ช่องกรอบหน้าต่างเป็นไม้ การจัดระเบียบของการเจาะช่องหน้าต่างเป็นไปตาม  step ชั้นหลังคา มีการยกกำแพงทำให้รู้สึกวิหารมีความโปร่งชะลูด ตัวสิงห์งามสง่าตั้งอยู่บนเสาด้านข้างประตูทางเข้าเกิดการยกลอยตัวทำให้รู้สึกไม่กระด้าง ลวดลายของหน้าบรรณนั้นดูสวยงามในการตกแต่ง ซึ่งละเอียดมากๆๆ คัยทวยก็มีการแกะสลักลายได้อย่างสวยงามมาก สวยจริงๆ เป็นที่น่าชื่นชม

ระนาบการซ้อนชั้นหลังคาแบบด้านหน้า2ชั้น ด้านหลัง3ชั้น

จากนั้นก็ไปยังบ้านพื้นถิ่นลำปางที่หมู่บ้านจ๋ง ต.ปาน อ.ปาน เพื่อศึกษาดู space ลานโล่ง กับตัวเรือน

บ้านพื้นถิ่นลำปางที่หมู่บ้านจ๋ง ต.ปาน อ.ปาน


การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ใต้ถุนเรือน การมองในแบบวิชวล ความงามของเส้น ระนาบตั้ง-นอนของผนังเรือน และความงามแบบลักษณะพื้นถิ่นของบ้าน


จากนั้นก็เดินทางไปต่อที่วัดข่วงกอม หมู่ที่ 9 ต. แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง


วัดข่วงกอม ต.แจ้ซ้อน จ.ลำปาง


เราแวะพักรับประทานอาหารกลางวันกันที่นี่บริเวณโถงทางเดินใกล้ ๆ กับวิหารวัด วัดนี้สร้างโดยการนำสถาปัตยกรรมดั้งเดิมมาประยุกต์
โดยให้อยู่ในสัดส่วนที่ผู้ออกแบบจะให้เป็นไป แข็ง ไม่นุ่มนวลเหมือนวันปงยางคก และวันไหล่หิน อาจจะเป็นเพราะต้องการเวลาที่นะทำให้เส้น form เหล่านั้นทำให้เกิดความนุ่มนวลมีการใช้วัสดุท้องถิ่นเช่นการใช้กระเบื้องไม้ ใช้วิหารคตแบบเก่า กำแพงวัดจะใช้การเรียงหินดูเป็นความงามจากธรรมชาติเสียจริง ส่วนของหลังคาวิหารเป็นระบบแบบล้านนาอีกอย่างหนึ่ง
แต่ไม่ได้เข้าไปดู space ภายใน เพราะวันนี้มีพิธีถวายเทียนพรรษากันอยู่ในอุโบสถวิหารวัด 

ถวายเทียนพรรษา ณ อุโบสถวิหารวัด


ด้านหลังกุฏิถัดออกไปมีบ้านเรือนหมู่ทรงพื้นเมือง มีลานโล่ง มีสวน เลี้ยงสัตว์ มีเล้าหมูด้วยนะ 

บ้านเรือนหมู่ทรงพื้นเมือง

แล้วก็ได้เห็นทุ่งนาที่กว้างขวางมาก

ทุ่งนา


เดินไปบนทุ่งนาทั้ง ๆ ที่แดด ตอนบ่ายร้อนมาก คิดในใจว่าวันนี้คงจะเกรียมแน่ๆ ถึงจะร้อนแต่ก็สนุกดีเหมือนกันนะ ทำให้เกิดความสงสารชาวนาที่ต้องทนทำงานท่ามกลางความร้อนของแดดที่เผาตัวอยู่ทุกวี่วัน  และเดินดูบ้านบริเวณรอบข้างวัดข่วงกอม  จากนั้นก็เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน น้ำพุร้อน ได้ผ่อนคลายความเหนื่อยและร้อนกันที่น้ำตกด้วยความสนุกสนาน

พักผ่อนให้หายเหนื่อย ที่น้ำตก และน้ำพุร้่อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน


 ไปแช่น้ำแร่กันซึ่งเป็นน้ำที่ร้อนมาก ต้องนั่งทำใจอยู่นานกว่าจะฝืนลงไปแช่น้ำที่ร้อนมาก ๆ ได้ เวลาแห้ฃ่งการพักผ่อนนั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว จากนั้นเราก็เดินทางกลับและแวะรับประทานอาหารเย็น วันนี้ได้กินขนมจีนน้ำเงี้ยวรสชาติอร่อยดี ก่อนจะกลับสู่โรงแรม