วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์สถาปนิก “IDOL รุ่นพี่สถาปัตย์ลาดกระบัง”

 
งาน assignment ชิ้นที่ 4 จาก อ.ไก่ ในวิชา Professional Practice ให้สัมภาษณ์เรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพสถาปนิก ฉันจึงได้สืบถามจากรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว เป็นเจ้าของออฟฟิศที่รุ่นพี่เค้าได้ไปฝึกงานด้วย ซึ่งฉันคิดว่าต้องเป็นสถาปนิกที่เก่งมากๆ เพราะสามารถเปิดออฟฟิศตั้งแต่อายุยังไม่มาก และบริหารงานของออฟฟิศได้ดีมาจนปัจจุบัน ออฟฟิศนี้มีชื่อบริษัทว่า บริษัทจันทิมาพร รุ่นพี่ได้บอกว่า เจ้าของออฟฟิศ คือ พี่ตั้ม เป็นสถาปนิกที่เรียนรุ่นเดียวกับอาจารย์ไก่(รุ่น12) ฉันจึงโทรไปหาพี่ตั้มเพื่อขอสัมภาษณ์ เมื่อโทรติดต่อไปขอสัมภาษณ์ พี่ตั้มก็ตอบตกลงอย่างเป็นกันเองพร้อมกับพูดว่า "ทำไมตอนผมมาที่คณะไม่มาขอสัมภาษณ์ล่ะ" ฉันก็เริ่มสงสัยว่าพี่ตั้มมาที่คณะตอนไหน แต่ก็ไม่กล้าถามอะไรในตอนนั้น เมื่อถึงวันที่ไปสัมภาษณ์ก็ได้นัดเจอกันที่ออฟฟิศของพี่ตั้ม ปรากฏว่าพี่ตั้มมีชื่อว่า ชินวร เวียงวิเศษ ผู้ที่ได้รับเชิญมาเป็นอาจารย์พิเศษวิชาคอนสตัครเจอร์ปี 5 ซึ่งเป็นปีแรกที่พี่ตั้มได้รับเชิญให้มาเป็นอาจารย์พิเศษ แต่พี่ตั้มไม่เคยได้เป็นผู้บรรยายในชั้นเรียน คลาสแรกที่พี่ตั้มสอนนั้นเราก็ได้ไปเปิดหูเปิดตากันที่ SCG experience กับอีกคลาสก็ได้เชิญวิทยากรมาแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ประเภทฝ้าเพดานที่มีน้ำหนักเบา ผู้ที่คุ้นเคยกับพี่ตั้มจะมีเพียงเพื่อนกลุ่มที่ตรวจแบบกับพี่ตั้มนั่นเอง ฉันไม่แน่ใจว่าพี่ตั้มจะถือว่าเป็นผู้สอนของมหาวิทยาลัยหรือเปล่า จะเข้าข่ายบุคคลที่ห้ามสัมภาษณ์มั้ย พี่ตั้มก็บอกกับฉันว่า "สัมภาษณ์พี่ได้อยู่แล้วแหละ"อย่างอารมณ์ดี ก่อนที่จะเริ่มสัมภาษณ์ พี่ตั้มได้พาไปที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งใกล้ๆออฟฟิศ เป็นร้านผัดซีอิ๊วโบราณเจ้าประจำของพี่ตั้ม และสั่งอาหารไว้ก่อนเพราะขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงพอดี แล้วจึงเริ่มสัมภาษณ์ในระหว่างที่กำลังรออาหาร


ขออนุญาติถามตามหัวข้อของอาจารย์ไก่เลยนะคะ
1. ประวัติส่วนตัวเล็กน้อย เรียนจบปีไหน ไปต่อโท ที่ไหน ทำงานอะไรที่ไหน ลักษณะงานการปฏิบัติวิชาชีพ ทำอะไร?
"เรียนที่โรงเรียนเทพศิริทร์ในชั้นมัธยม จากนั้นศึกษาปริญญาตรีที่พระจอมเกล้าลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาตร์  เมื่อปี 2527 เข้าเรียนรุ่นเดียวกับอาจารย์ไกรทอง และศึกษาต่อปริญญาโทที่สถาบันเดิม สาขาวิชา สถาปัตยกรรมเขตร้อน เมื่อปี 2538 จบการศึกษาเมื่อปี 2545 ในระหว่างเรียนนั้น ทำงานควบคู่กันไปด้วย เมื่อจบใหม่ได้ทำงานกับบริษัท จีทีดีไซน์ ซึ่งไม่รู้ว่ายังมีบริษัทนี่อยู่รึปล่าวในปัจจุบัน แถวสี่แยกพระพรหม ตึกเกสรพลาซ่า ทำงานได้เพียง 6เดือน ก็โดนไล่ออก และเอาเงินเดือนผมไปให้เพื่อนผม(หัวเราะ) แต่เพื่อนผมก็ออกมาด้วยกัน เพราะเค้าไม่ชอบหน้าผม เพราะไปรู้ความลับของนายเยอะเกินไป เพราะฉะนั้นเป็นลูกน้องอย่าไปรู้เรื่องของนายเยอะ ชีวิตจะสบาย รู้ก็ทำเป็นไม่รู้ รู้แต่สิ่งดีของนาย สิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ต้องไปรู้  เพราะว่ามันไม่ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นแน่ๆ และมาทำงานที่โรงแรมเอราวัณ ซึ่งตอนนั้นกำลังก่อสร้าง ได้ทำงานคุมไซต์ของโรงแรมเอราวัณ หลังจากคุมงานในไซต์ 2ปี จนจบโครงการ ก็ได้เข้ามาทำงานบริษัทเข็มเจาะ เป็นบริษัทเล็กทำงานเกี่ยวกับรับเหมา ทำเองกับเพื่อนๆและพี่ ทำมาเรื่อยๆ ทำอยู่นาน จนถึงปีที่ฟองสบู่ระเบิด ตอนปี38-40 เนี่ย ตอนนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ วงการธุรกิจก่อสร้างก็ซบเซา งานก็โดนเบี้ยว ลูกค้าเก็หนีไม่จ่ายเงิน ก็เลยชะลองานด้านนี้ไป ตอนนั้นก็เริ่มไปเรียนปริญญาโท เพราะไม่มีอะไรทำ และทำงานไปก๊อกๆแก๊กๆ ก็เริ่มจริงจังกับงาน พอเราทำงานก่อสร้าง ทำงานเข็ม มันก็มีประโยชน์อย่างหนึ่งว่า เราจะรู้เรื่องของโครงสร้างของการทำงานจริงเลยเยอะ ว่าออกแบบเงี๊ยทำยากหรือทำง่าย โชคดีที่ผมไปทำงานที่เอราวัณ ได้เห็นไซต์ เจ้านายเค้าสอนงานดีมากเลย เพราะจบใหม่ๆเราไม่รู้เรื่องเลย  เค้าจะให้โน๊ตทุกเช้าบอกว่าเราต้องทำอะไร  เปิดบริษัทเองหลังจากจบโครงการที่เอราวัณได้ซักพักก็คือบริษัททำเข็มเจาะเล็กกับทำพวกรับเหมาอะไรมากกว่า แล้วก็จดทะเบียนเพิ่มเป็นบริษัทออกแบบ แต่ทำได้จริงจังหลังจากปี 40 มา เพราะในความคิดคือตอนเป็นผู้รับเหมาเวลาโดนเบี้ยวเราก็เข้าเนื้อ ในจรรยาบรรณเราต้องคิด มันเป็นวิชาชีพเรา เราควรจะได้ค่าเหนื่อยเต็มที่  แต่เรื่องเบี้ยวก็เป็นเรื่องของธุรกิจ เป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น
2. งาน หรือ ผลงานของพี่ที่ไปสัมภาษณ์นั้น ที่พี่เขาคิดว่า เป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติวิชาชีพ คืออะไร อุปสรรคในการปฏิบัติวิชาชีพคืออะไร?
งานที่ผมชอบตอนนี้ คืองานออกแบบเป็นอาคารส่งเสริมประสบการณ์วิชาชีพของที่ราชภัฏพระนคร ที่เพิ่งทำเสร็จเป็นอาคารกึ่งทรงไทย  งานที่กำลังจะ renovate สถาบันอาหารผมก็ชอบ โรงงานในนิคม ส่วนใหญ่งานที่ผมทำจะเป็นโรงงานซะเยอะ ก็ชอบ แต่มันจะไม่สวย โรงงานแอมพาสผมก็ชอบ แล้วก็มีรีสอร์ทที่สมุยที่ผมออกแบบไว้ แต่มันยังไม่สร้าง อันนั้นผมก็ชอบ งานที่ผมชอบสุดๆคงไม่มี เพราะผมก็ชอบทั้งนั้น ณ เวลานึงเราก็ชอบแบบนึง 
ส่วนอุปสรรคในการประกอบวิชาชีพมันก็เป็นเรื่องการ Operate คน ไม่ว่าจะเป็นคนของเราหรือคนของเค้า และความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ของบุคลากรทั้งในและนอกที่เราร่วมงาน การติดต่อสื่อสารระหว่างเรากับลูกค้า หรือระหว่างเรากับทีมงาน ก็เป็นปัญหา มันก็ต้องปรับ tune นะ ให้เหมาะสมตามสภาพการทำงานในแต่ละครั้ง เพราะมันไม่มีความแน่นอน ต้องให้ความร่วมมือกัน ของผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา และลูกค้า ผมว่าการทำงานของเราต้องอาศัยความยืดหยุ่น ที่สำคัญคือความร่วมมือกันตั้งแต่เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาตรวจสอบงาน จะทำให้งานออกมาดี พวกการประมูลงานราชการต่าง ๆ มันก็ชอบมีใต้โต๊ะ บนโต๊ะ  มันก็ควรจะหมด ๆ ไป แต่เหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยไปแล้ว ซึ่งตอนนี้ผมก็เริ่มกลมกลืน รับสภาพได้ งานอิสระไม่จำเป็นต้องใหญ่โต เราก็หาช่องทางได้
3. ข้อคิดที่สำคัญในการ ทำงานคืออะไร? การปฏิบัติตนต่อการทำงานทำอย่างไร?
ข้อคิดที่สำคัญในการ ทำงานก็น่าจะเป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อหน้าที่  การเป็นผู้นำที่ดี  การปฏิบัติต่อวิชาชีพ  เราต้องทุ่มเท  ไม่ว่ามันจะยากลำบาก ปวดหัว มีปัญหายังไง  ถ้าเราทุ่มเท มีสมาธิกับมัน  ก็จะทำให้งานดำเนินไปได้  ต้องกัดฟันทนอยู่กับมัน คิด ๆ เขียน ๆ ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวมันก็จัดระเบียบ จนเจอทางออกของมันเอง  มีคำของสถาปนิกรุ่นใหญ่ คุณเล็ก บุญนาค พูดถึงดวงตาที่สาม ดวงตาที่มองเห็นความงาม ก็เป็นสิ่งที่ผมเอามาคิดนะ ว่าตาที่สามคือเราไม่ได้มองแบบตา มิติเดียวกว้างคูณยาวคูณสูง แต่เรามองความผสมผสานของรูปแบบศิลปะที่มันกลมกลืน ไม่ต้องแบ่งแยก ภายนอกภายใน ซึ่งพูดได้ดีมาก
4. คิดเห็นอย่างไรกับ จรรยาบรรณวิชาชีพ คิดเห็นอย่างไรกับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
คืออาชีพเราเป็นอาชีพที่มีผลได้ผลเสียกับคนส่วนรวม  เหมือนคนที่เป็นหมอเป็นทนาย ซึ่งมีไม่กี่อาชีพที่ได้เงินลูกค้าแล้วลูกค้ายังเอาใจอยู่ เพราะลูกค้าที่จ้างเรากลัวว่าจะคิดให้เค้าน้อย คิดงานไม่ค่อยดี พวกซัพพลายเออร์ก็ชอบมาเอาอกเอาใจพวกผู้ใหญ่ ชวนไปตีกอล์ฟ อาชีพเราเป็นอาชีพที่มีเกียรตินะ สมัยก่อนผมเข้ามาเรียนลาดกระบัง ตอนนั้นก็มีแต่ศิลปากรกับจุฬา คนที่เรียนก็มีหน้ามีตาในสังคม
สิ่งแวดล้อมมันก็เป็นกระแสที่กำลังมาตอนนี้นะ มันเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมรู้สึกว่าเป็นอาวุธที่ฝรั่งจะหลอกเรา ถ้าใครบอกว่าไม่ดีตอนนี้ก็คงเป็นคนชั่วอ่ะนะ คำถามนี้มันไม่ต้องตอบหรอก มันไม่มีความหมาย แม้จะไม่เห็นด้วยแต่ก็ต้องบอกว่าดี แต่ว่าดียังไงเนี่ย ผมบอกว่ามันคุ้มกับที่เราไปลงทุนกับมันมั้ยในบางอย่าง แต่ว่าโอเคกับการคำนึงถึงพื้นฐานในการออกแบบ เช่นพวก orientation คำนึงถึงแดดลมฝน ซึ่งสถาปนิกธรรมดานั้นคิดกันอยู่แล้ว ซึ่งตอนหลังๆ มันจะเป็นเรื่องของธุรกิจที่เป็นจุดขาย พวกมาตรฐาน LEED แบบนี้หรืออะไรต่าง ๆ ที่มันกลายเป็นภาระของการออกแบบ บริษัทเล็ก ๆ ก็สู้ไม่ได้ ก็คล้าย ๆ กลายเป็นว่าทำกรอบมาบล็อคคนกลุ่มนึง เราต้องจ้างฝรั่งมาทำงาน ผมว่าที่เคยออกแบบกันมามันก็ดีอยู่แล้ว คงไม่มีใครไปทำอะไรแปลก ๆ เกินไปหรอกนะ
หลังจากสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้วอาหารก็มาเตรียมพร้อมอยู่ตรงหน้า จึงจบการสัมภาษณ์แล้วรับประทานอาหารกันด้วยความเอร็ดอร่อยพร้อมพูดคุยกันทั้งเรื่องที่มีสาระและเรื่องอื่น ๆ ทั่วไปด้วยความเป็นกันเองของพี่ตั้มทำให้การสนทนากันวันนี้ราบรื่นและสนุกสนานพร้อมความอิ่มของการรับประทานอาหารมื้อกลางวันและยังมีห่อให้ฉันเอากลับมากินอีกด้วย ต้องขอขอบพระคุณพี่ตั้มเป็นอย่างสูงที่สละเวลาพร้อมกับเลี้ยงอาหารมื้อเที่ยงและการพูดคุยที่เป็นกันเองของพี่ตั้มนะคะ
ตัวอย่างผลงานของออฟฟิศพี่ตั้ม









วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติของ อาจารย์จิ๋ว(รศ. วิวัฒน์ เตมียพันธ์)

ประวัติของ อาจารย์จิ๋ว(รศ. วิวัฒน์ เตมียพันธ์)
                อาจารย์จิ๋ว(รศ. วิวัฒน์ เตมียพันธ์)เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔  สำเร็จการศึกษา สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต (สถาปัตยกรรม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                ในปี
พ.ศ. ๒๕๐๗ เริ่มเข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์ ที่วิทยาลัยวิชาการก่อสร้าง ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
                วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
                วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ขึ้นดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ ๙ สังกัดภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
                ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับชาติ เข้ารับพระราชทานรางวัลผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นประเภทบุคคลประจำปี ๒๕๔๐โดยการคัดเลือกของกรมศิลปากร
                ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับการคัดเลือกเป็นสถาปนิกดีเด่นในด้านสถาปนิกดีเด่นด้านวิชาการประจำปี โดยการคัดเลือกของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ในโอกาสที่สมาคมได้ก่อตั้งมาครบ ๗๐ ปี)
ปัจจุบันอาจารย์จิ๋ว เกษียณอายุราชการและเป็นข้าราชการบำนาญ แต่ด้วยวิญญาณของ ครูท่านคงรับภาระงานสอนให้แก่นักศึกษาในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท ของภาควิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน และภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. นอกจากนี้ท่านยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษหรือเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ ให้แก่ สถาบันการศึกษาที่สอนสาขาวิชาสถาปัตยกรรม ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ได้รับเชิญเป็นประจำ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันอื่นตามแต่โอกาส เช่นที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย ซึ่งท่านเคยรับไปบรรยายพิเศษเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานกว่า ๑๐ ปี
                รางวัลระดับชาติที่ได้รับ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ตามลำดับ) ดังนี้
- จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย
- ตริตราภรณ์มงกุฎไทย
- ตริตราภรณ์ช้างเผือก
- ทวิติยาภรณ์มงกุฎไทย
- ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก
- ปถมาภรณ์มงกุฎไทย (สายสะพาย)
- ปถมาภรณ์ช้างเผือก (สายสะพาย)
และได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒
ผลงานทางวิชาการ
1.บทความทางวิชาการ เรื่อง สาระของชนบทในบางมิติ ที่ต้องอาศัยการรู้แจ้งจากประสบการณ์ภาคสนามในหนังสือมรดกความงามของสภาพแวดล้อมท้องถิ่นไทยจัดพิมพ์โดย ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. ๒๕๔๗
2.บทความทางวิชาการเรื่อง สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทย ฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมกับการออกแบบปัจจุบันและความหมายของที่อยู่อาศัยตามโลกทัศน์ล้านนาโบราณเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ ความหลากหลายของเรือนพื้นถิ่นไทยจัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๓
3.บทความทางวิชาการ เรื่อง เรือนพักอาศัย รูปแบบสำคัญของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นตีพิมพ์ในวารสาร อาษา เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑
4.ค้นคว้าเรื่อง สถาปัตยกรรมล้านนาและได้รวบรวมโดยเขียนหนังสือสถาปัตยกรรมล้านนาเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕
5.การศึกษาการใช้พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวเกาะสีชัง อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔
6.การศึกษาเพื่อจัดทำหุ่นจำลองสภาพการใช้พื้นที่ประวัติศาสตร์ป้อมเพชร ศูนย์ประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓
7.โครงการวิจัยรูปแบบเรือนพักอาศัยพื้นถิ่นของชุมชนไทยเชื้อสายมอญ ย่านคลองมอญ หัวตะเข้ เขตลาดกระบังเป็นการออกสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนาม ด้วยการออกไปสัมผัสยังสถานที่สำรวจ รวมไปถึงการสัมภาษณ์ และจดบันทึกข้อมูลด้วยภาพวาดลายเส้นทางสถาปัตยกรรม ของชาวมอญที่ตั้งบ้านเรือนบริเวณคลองมอญ คลองประเวศน์บุรีรมย์ตลอดไปจนถึงคลองลำปลาทิว ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒
8.เอกสารทางวิชาการ เรื่อง สังเขปความ การตั้งถิ่นฐานมนุษย์ในภาคอีสาน (และบางส่วนของลาว) ในเชิงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทางเอกสารและหลักฐาน ถึงรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)ใช้ประกอบในการสัมมนาเรื่องเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมอีสานจัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐
9.บทความทางวิชาการ เรื่องแนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเผยแพร่ในการอบรมแนวทางการศึกษาและวิจัยทางศิลปกรรมไทยของคณะมัณฑนศิลป์ร่วมกับคณะอนุกรรมการการวิชาการโครงการจัดตั้งหอศิลป ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
10.หนังสือสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นจัดพิมพ์โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. ๒๕๒๕
11.งานวิจัยเรื่องเรือนเครื่องผูกชาวนา (โรงนา) ที่หมู่ ๑ ตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครโดยงานวิจัยได้รับทุนอุดหนุนด้วยเงินงบประมาณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปี พ.ศ. ๒๕๒๔
12.สำรวจค้นคว้าเรื่อง รูปแบบอาคารที่พักอาศัยพื้นบ้านในชนบทของไทยทุกภาคพร้อมกับศึกษาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำมาเป็นข้อมูลการเรียนการสอนให้อนุชนรุ่นหลังมีความตะหนักถึงมรดกทางวัฒนธรรมไทย อันมีคุณค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้
13.เอกสารคำสอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ๑ เรื่อง อียิปต์ เมโสโปเตเมีย กรีก โรมัน คริสเตียนยุคแรกภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
                นอกจากนี้ อาจารย์จิ๋ว ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ รอบรู้ในศาสตร์แขนงอื่นอีกด้วย ที่พอกล่าวได้มีดังนี้ เช่น ในด้านศิลปะไทย, วัฒนธรรมประเพณีล้านนา, ประวัติศาสตร์, ชาติพันธุ์วิทยา, คติพื้นบ้าน, ตลอดจนในด้านดนตรีไทย เป็นนักดนตรีไทย (เป่าขลุ่ย) ท่านจึงได้รับเชิญเข้าร่วมสัมมนาหรือเป็นองค์ปาฐกในงานวิชาการระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ
1.เป็นวิทยากรบรรยายในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ ในงานสถาปนิก ๕๐ “International Seminar Architect’ 07: Leap to the Future” หัวข้อบรรยายวิถีไทยการดำรงอยู่บางประการผ่านวรรณศิลป์และดุริยางคศิลป์จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ศูนย์กลางการประชุมเมืองทองธานี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
2.เป็นองค์ปาฐกในการสัมมนาทางวิชาการและการจัดแสดงผลงานภาพถ่าย ในหัวข้อโครงการ มรดกความงามของสภาพแวดล้อมท้องถิ่นไทยที่ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. จัดขึ้น เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗
3.เป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนาวิชาการ สัปดาห์วิชาการครั้งที่ ๑จัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๖
4.ร่วมสัมมนาวิชาการ ในงาน สถาปนิก๔๖ เรื่อง สุนทรียศาสตร์ทางด้านดนตรีจัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ศูนย์กลางการประชุมเมืองทองธานี ปี พ.ศ. ๒๕๔๖
5.เข้าร่วมประชุมทางวิชาการ เรื่อง ความหลากหลายของเรือนพื้นถิ่นไทยจัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พ.ศ. ๒๕๔๓
6.เป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนาวิชาการ สาระศาสตร์จัดโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒

ผลงานด้านการออกแบบ
1.ออกแบบอาคารทรงไทย และกลุ่มอาคารเรียนสองชั้น ภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปี พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๕

2.ออกแบบกู่ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ของพระราชอินทวิชยานนท์ บนยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

มุมมองเกี่ยวกับการศึกษาสถาปัตยกรรมของอาจารย์จิ๋ว
จะมุ่งเน้นไปที่การนำหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในปัจจุบัน
“การศึกษาเบื้องแรกนั้นจำต้องศึกษาค้นคว้าหาลักษณะของรูปแบบอาคารโดยการสำรวจ วัดขนาดอาคารที่จะค้นคว้านั้น ด้วยการเขียนร่างภาพ ถ่ายภาพเป็นข้อมูลเบื้องต้น ตามหลักการศึกษาของสถาปัตยกรรม จะต้องนำข้อมูลมาเขียนแบบละเอียด คือ แปลน รูปตัด รูปด้าน รูป ISOMETRIC หรือทัศนียภาพเพื่อศึกษาปริมาตรผิว (SURFACE) ตลอดถึงความสัมพันธ์ของเนื้อที่ภายในอาคาร เพราะทัศนียภาพและภาพ ISOMETRIC นั้นเป็นภาพที่แสดงความสัมพันธ์ของพื้นที่ผิวและเนื้อที่ว่าง (SPACE) ที่ห่างได้กระจ่างชัด เพราะแสดงภาพเป็น 3 มิติ ซึ่งถือว่าเป็นการนำแสนอข้อมูลที่สำรวจมานั้นมาจัดวางเข้าระบบทางวิธีการของสถาปัตยกรรม เพื่อจะใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์เนื้อหา และประเด็นที่ต้องการศึกษาในแง่มุมที่ต้องการศึกษาได้อย่างสะดวกแบบอาคารที่เขียนขึ้นมานี้ทำให้เราทราบชัดในเบื้องแรกคือ รูปลักษณะของอาคารที่เราต้องการนั้นเองเพื่อจะใช้สำหรับการตีความจากการวิเคราะห์ต่อไป
การวิเคราะห์เบื้องแรก คือ การวิเคราะห์หาเนื้อที่ใช้สอยโดย วิเคราะห์หาขนาดของพื้นที่ใช้สอยแต่ละประเภทของอาคาร วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของเนื้อที่ใช้สอย กิจกรรมที่เกิดขึ้นในเนื้อที่ใช้สอยตามมิติของเวลา และฤดูกาล และความสัมพันธ์ของกิจกรรมกับพื้นที่ใช้สอยตลอดถึงพฤติกรรมทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนอันเป็นผลมาจากคติความเชื่อ แบบแผนของการดำรงชีวิตที่สัมพันธ์หรือมีผลต่อกิจกรรมต่างๆอันเกิดขึ้นภายในอาคาร หลักการที่ใช้ในการวิเคราะห์นั้นต้องอาศัยจากการสังเกต(OBSERVATION) สัมภาษณ์ และเอกสารที่เกี่ยวกับคติความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ
วิเคราะห์จากระบบโครงสร้าง ธรรมชาติของวัสดุก่อสร้างที่มากำหนด วิธีการก่อสร้าง ระบบการระบายอากาศภายในอาคารการจัดสร้างระบบการระบายอากาศภายในอาคารการจัดวางพื้นที่ใช้สอย กับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ภูมิอากาศและทิศทางของแดดลม วิธีการแก้ปัญหาจากผลกระทบของธรรมชาติ การเลี่ยงแสงแดดการเปิดรับแสงแดด การเปิดรับลม วิธีเลี่ยงและป้องกันการสาดของแผนวิธีการป้องกันลมพายุ
เมื่อวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆแล้วเริ่มประเมินค่าของอาคารโดยสรุปค่าเป็น 3 หัวข้อ คือ คุณค่าของการแก้ปัญหาเรื่องประโยชน์ใช้สอย คุณค่าการก่อสร้างและการใช้วัสดุ ระบบวิธีของโครงสร้างที่ทำให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง ประการสุดท้ายคือการประเมินคุณค่าทางความงาม ได้แก่ ความสัมพันธ์ของระนาบกับพื้นที่ สัดส่วนของรูปทรง จังหวะของการเจาะช่องที่สัมพันธ์กับผนังทึบ คุณค่ารูปทรงที่เป็นมวล (MASS) ระเบียบของการตกแต่งระนาบต่างๆ ความสัมพันธ์ของเส้นสายรูปทรงในตัวอาคาร วิธีการเก็บรายละเอียดของส่วนต่างๆของอาคาร (FINISHED) ความสัมพันธ์ของพื้นที่ผิววัสดุที่ใช้กับอาคาร ผลของแสงเงาที่มีต่อรูปทรงของอาคาร การเลื่อนไหลของที่ว่าง (FLOWING OF SPACE) ภายในอาคารการจัดองค์ประกอบของรูปด้านวิธีการจัดองค์ประกอบของมวลที่เป็นรูปทรง (MASS) ความงามขององค์ประกอบพื้นที่ (COMPOSITION OF PLAN) ความสัมพันธ์ระหว่างที่ว่างภายในอาคารกับที่ว่างภายนอกวิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอาคาร กับสภาพแวดล้อมในเชิงองค์ประกอบทางความงาม ศึกษาส่วนอาคารตกแต่งให้มีคุณค่า (ARCHITECTURAL DECORATION)
การประเมินคุณค่าทางความงามอันเป็นประเด็นสุดท้ายนี้เป็นการวิเคราะห์ทางการจัดระเบียบขององค์ประกอบ แม้บางครั้งการจัดองค์ประกอบทางความงามของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไม่ปรากฏชัด แต่ขอให้ถือว่าเป็นการศึกษาเพื่อจะทำความเข้าใจ ในหลักขององค์ประกอบของชาวบ้านที่มีสำนึกและประสบการณ์อีกมิติหนึ่งที่ผู้ศึกษาจะพบ และเป็นการสร้างสำนึกที่จะเข้าถึงความงามระดับ ชาวบ้านที่มีศักยภาพสุนทรียรสต่างไปจากผู้ค้นคว้าเอง และทำให้เราทราบว่าความงามในระดับชาวบ้าน นั้นเป็นอย่างไร มีการจัดองค์ประกอบเช่นไร นักวิชาการศึกษาศิลปะมักลงความเห็นเป็นผลสรุปว่างานแบบพื้นถิ่นหรือพื้นบ้านนั้นเป็นงานที่ออกแบบเพื่อสนองประโยชน์ใช้สอย และการใช้งานในชีวิตประจำวันของชาวบ้านความงามนั้นมิใช่เป้าหมายหากแต่ความงามนั้นเป็นผลผลิตขั้นตอนสุดท้าย (THE END PRODUCTION) ของงานออกแบบเป็นความงามที่ตรงไปตรงมาไม่เสแสร้าง (SINCERELY CONCEIVED) เพราะเป็นงานที่ออกแบบให้เคารพต่อประโยชน์ใช้สอย และวัสดุก่อสร้าง อันพ้องกับความเห็นเกี่ยวกับความงามของลักธิ FUNTIONALISM ที่เสนอว่าความตรงไปตรงมาของการจัดระเบียบโครงสร้างการเคารพและซื่อตรงต่อวิธีการก่อสร้าง ตลอดถึงความงามที่มีอยู่ในวัสดุก่อสร้างเองนั้น เป็นคุณลักษณะทางสุนทรียภาพของการออกแบบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างจะรับรู้ได้ยาก เพราะเป็นความรู้สึกที่เป็นนามธรรม (ABSTRACT SENCE)
การค้นคว้าเรื่องสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนั้นจำต้องใช้ความรู้ที่เป็นหลักวิชาทางเหตุผลซึ่งเป็นลักษณะภาวะวิสัย (OBJECTIVE) ผสมผสานกับการใช้ความรู้ที่เป็นประสบการณ์อันจัดเป็นอัตวิสัย(SUBJECTIVE) หรือจิตนิยมควบคู่กันไป เพราะต่างก็เป็นวิธีการที่ได้รับความรู้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย การแสวงหาความรู้ที่มีลักษณะเป็นภาวะวิสัย หรือวิธีการทางวัตถุนิยมเป็นวิะการที่มีพื้นฐานอยู่บนเหตุผล (RATIONAL) ส่วนวิธีการที่เป็นอัตวิสัยนั้นมีพื้นฐานอยู่บนความรู้โดยฉับพลันของประสบการณ์ (INTUITIVE) ซึ่งต่างก็เป็นวิธีทางของภาระหน้าที่ๆ ต้องประกอบกันของสภาวะจิตของมนุษย์ (THE RATIONAL AND INTUITIVE ARE COMPLEMENTARY MODES OF FUNTIONING OF HUMAN MIND) แต่จากวงการศึกษาค้นคว้าของเราในปัจจุบันมักหลีกเลี่ยงวิธีการทางอัตวิสัย แบบความรู้ที่พลุ่งขึ้น (INTUITIVE) ว่าไม่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์แต่ความรู้ที่เป็นประสบการณ์ทางอัตวิสัยนั้นเป็นวิธีการที่เข้าใจ และเป็นความรู้ที่ใช้กับศิลปะและความงามอันเป็นเป้าหมายหลักของโลกวิจิตรศิลป์อีกอย่างหนึ่ง หากใช้วิธีการทางภาวะวิศสัยแนวเดียว การค้นคว้าก็มักจะหลีกเลี่ยงประเด็นหลักของศิลปะไปเสียเป็นไม่ก้าวล้ำลงสู่ความลึกซึ้งทางศิลปะ อันควรเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญและเป็นประเด็นหลักอีกประเด็นหนึ่ง วิธีการของการศึกษาศิลปะนั้นไม่ถือว่าใครผิดใครถูก เป็นสิทธิที่ศิลปินจะมีความคิดและความเชื่อแตกต่างกันไป และศิลปะมีสภาวะอัตนัย(อัตวิสัย) มากที่สุดในกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ก็เพราะว่าศิลปะนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของความรู้สึกนึกคิดจินตนาการเป็นอย่างมาก การสร้างสรรค์งานศิลปะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ ความบันดาลใจความรู้สึกนึกคิดจินตนาการ การทำงานศิลปะคือ การแสดงออกหรือการเอาออก จากการสั่งสมทั้งภายในและภายนอก ศิลปินไม่ถือว่าวัตถุสำคัญกว่าจิตใจ วัตถุไม่ใช่สิ่งสูงสุดและสิ่งถาวร ข้อมูลทางวัตถุอาจเป็นข้อมูลเบื้องต้น ศิลปินจินตนาการจากข้อมูลหรือแบบได้ศิลปินจำนวนมากหาข้อมูลโดยประสบการณ์ และความจำขณะที่เขาเขียนภาพเขาเขียนด้วยการแสดงออกเต็มที่และฉับพลันโดยไม่ต้องอาศัยข้อมูลที่เป็นวัตถุเลย วิทยาศาสตร์นั้นเพ่งเล็งเอาใจใส่สิ่งที่เป็ฯสัญลักษณ์เพียงชนิดหนึ่ง เพื่อมีความมุ่งหมายบรรยายลักษณะความจริงแท้ที่แน่นอน แต่วิทยาศาสตร์ก็ได้ละเลยและขาดระบบสัญลักษณ์อีกหลายอย่างโดยเฉพาะระบบสัญลักษณ์ของโลกศิลปะ ศิลปะนั้นไม่สามารถให้ความรู้ในทางพรรณนาหรือการบรรยาย แต่เป็นความรู้สึกที่แสดงออกโดยตรงในเรื่องราวของความจริงอีกประเภทหนึ่ง ศิลปะ คือ รูปแบบที่แสดงให้ปรากฏได้ (COMCRETIZE) ของปรากฎการณ์(PHENOMENAL) อันซับซ้อนหรือสถานการณ์ของชีวิต (LIFE SITUATION) เราอาจจะศึกษาศิลปะในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่การศึกษาโดยวิธีการนี้ไม่สามารถที่จะหาสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์ แต่การศึกษาโดยวิธีการนี้ไม่สามารถที่จะหาสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์มาแทนระบบสัญลักษณ์ของศิลปะได้แม้กระทั่งเกณฑ์ สำหรับการพิจารณาทางความจริง หรือสัจจะ (TRUTH) ที่จะมาเชื่อมศิลปะเนื่องด้วยแนวความคิดทางความจริงอันเป็นปกติของ(วิทยาศาสตร์) เรานั้นได้ถูกสมมติล่วงหน้าจากระเบียบเหตุผล ทางตรรกวิทยาของภาวะวิสัยล้วนๆ ส่วนศิลปะนั้นเป็นระบบสัญลักษณ์ที่ไม่มีการพรรณนาความ (NON-DESCRIPTIVE SYNDOL SYSTEMS) ฉะนั้นศิลปะจึงไม่ใช่สิ่งที่ให้ความรู้แต่ให้ประสบการณ์และแนวทางสำหรับพฤติกรรมแก่มนุษย์
ด้วยเหตุฉะนี้การศึกษาค้นคว้าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นก็มีความมุ่งหมายเพื่อสืบเสาะหาเค้าเงื่อนของปัญหาในการดำรงชีวิตของคน ระดับชาวบ้านทั่วๆไปในแง่ที่กำบังเพื่อพำนักอาศัย (SHELTER) ยังผู้ค้นคว้าได้ทราบชัดถึงอัจฉริยภาพในการแก้ปัญหาของปัญญาชาวบ้าน อันเป็นปัญญาที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชน (COMMNUAL INTELLECTUALS) ที่ปกติมักถูกละเลยและมองข้ามบางครั้งก็ดูหมิ่นดูแคลน เพราะถือว่าเป็นการแก้ปัญหาด้วยความบังเอิญ ซึ่งสถาปนิกผู้รู้บางท่านได้เคยกล่าวตำหนิเอาไว้ แต่โดยแท้จริงแล้วคือสิ่งที่แสดงพลังสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ของประชาชนในแต่ละวัฒนธรรม เมื่อผู้ศึกษาค้นคว้าได้กระโจนลงสู่สายสาครของการศึกษาของกระแสธารนี้แล้ว ก็เท่ากับได้แหวกว่ายลงไปในกระแสความคิดของหมู่ชนที่ได้สถาปนาสภาพแวดล้อมให้มีคุณภาพ และเสริมประสิทธิภาพให้แก่ชีวิตด้วยความงามตามอัตภาพของธรรมชาติแวดล้อม จะเห็นการต่อสู้ของมวลมนุษย์กับสภาพดินฟ้าอากาศอย่างทรหดอดทน ทั้งยังเป็นระบบของการสะสมความรู้ของกลุ่มที่น่าศึกษา เป็นการเสริมภาพรวมของมนุษย์ให้กระจ่างขึ้น ทำให้เข้าใจความหมายของชีวิตในมุมกว้างและลึก เกิดความรักในมนุษย์เพิ่มขึ้นไปอีกเพราะเป็นการหาประสบการณ์ของมนุษยชาติ และบางครั้งความรู้และประสบการณ์ของชาวบ้านที่หลงเหลือในปัจจุบัน ในรูปของประเพณีโบราณบางประการนั้น ได้รับการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่องสืบมาเป็นเวลายาวนานเลยลึกเข้าไปในอดีตที่แสนไกล บางทีจะถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์เลยก็ได้”
มุมมองของข้าพเจ้าต่ออาจารย์จิ๋ว
อาจารย์จิ๋วท่านเป็นผู้มองสถาปัตยกรรมได้อย่างทุลุปรุโปร่ง สามารถวิเคราะห์สิ่งที่ตาเห็นออกมาในรูปแบบ จุด เส้น ระนาบ มองเห็นความงามของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น นอกจากรูปทรงที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนภายนอกตามวัฒนธรรมเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นแล้ว ยังมองเห็นว่ามีความงามโดยมองเป็นจุด เส้น ระนาบแล้วเห็นว่าแต่อาคารละหลังนั้นมีความงามพิเศษเฉพาะตัวอย่างไร และมีความสามารถในการนำเอาจุด เส้น ระนาบจากอาคารพื้นถิ่นมาประยุกต์กับการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ซึ่งข้าพจ้ารู้สึกชื่นชมความสามารถของท่านเป็นอย่างมาก
สำหรับการสอนของอาจารย์จิ๋ว ท่านจะรอให้ลูกศิษย์มาให้ครบทุกคนก่อนจึงจะเริ่มสอน เนื่องจากความเป็นห่วงลูกศิษย์ ว่าถ้าหากไม่ได้มาเรียนรู้ในสิ่งที่ท่านสอน จะไม่ได้รับความรู้เท่าเทียมกับเพื่อน ๆ ทำให้เสียผลประโยชน์ ขาดความรู้ที่สำคัญมากไปอย่างน่าเสียดาย เป็นความคิดที่น่ายกย่องชื่นชมกับความรัก ความเป็นห่วงลูกศิษย์ของท่านจริง ๆ

วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วันสุดท้ายของทริป

วันนี้เป็นวันที่เดินทางกลับแล้ว ระหว่างทางกลับก็เดินทางไปที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเยี่ยมชมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่เป็นที่เคารพของชาวพิษณุโลกคือ พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารนี้เป็นบทเฉลยของสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยที่อยู่จนถึงปัจจุบันโดยมี สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยวัดนี้มีพระปรางที่ได้รับอิทธิพลจากขอมประดิษฐานอยู่ด้านหลังอุโบสถ




ก่อนหน้านี้เราได้ไปยังวัดตรงกันข้ามกับวัดวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารก็คือวัดราชบูรณะซึ่งมีวิหารและอุโบสถหลังเก่าเป็นโครงสร้างไม้แสดงถึงภูมิปัญญาของชาวพิษณุโลกและภูมิปัญญาที่ตกผลึกของช่างก่อสร้างในสมัยโบราณ ดูมีหลักความเชื่อในเรื่องโชคต่าง ๆ มีการลอดท้องเรือ การลอดช่องต้นไม้ และการทำบุญต่าง ๆ เพื่อสิริมงคลแก่ตนเองและญาติมิตร 



จากนั้นก็เดินทางกลับกรุงเทพมหานครบ้านของเรา
การมาทริปในครั้งนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับความงามของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมากมายจากหลากหลายพื้นที่ รวมถึงศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ สรรค์สร้างงานสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยสุโขทัย ได้รับรู้ถึงการใช้ความงามแบบวิชวลในการออกแบบสถาปัตยกรรมของช่างไทยในอดีตที่ปัจจุบันก็ยังมีการนำมาปรับใช้กันอยู่ รวมถึงความวิจิตรสวยงาม ความแข็งแรงทนทานของโบราณสถาณที่ช่างในอดีตมีความอุตสาหะ ความประณีตละเอียดอ่อน และความตั้งอกตั้งใจในการสร้างงานสถาปัตยกรรมแต่ละแห่ง ได้ซึมซับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีน้ำใจของคนพื้นถิ่น ที่แตกต่างจากคนเมือง สิ่งที่ได้จากการมาทริปครั้งนี้ช่างคุ้มค่าเกินบรรยายจริง ๆ

วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 8 ของทริป

วันนี้มุ่งหน้าสู่บ้านอ.ตี๋ที่กงไกรลาศพร้อมกับข้าวเหนียวหมูทอดคู่ชีพ เมื่อถึงละแวกบ้าน อ.ตี๋ก็พบกับบ้านพื้นถิ่นของกงไกรลาศ เป็นบ้านแพกคู่ คือ 2 หลังรวมกันหลังคาเดียว หลังคาก็มีความพิเศษคือเป็นหลังคามุงสังกะสีทรงปั้นหยา แสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านพื้นถิ่นที่นี่จริง ๆ



เมื่อถึงบ้าน อ.ตี๋ ก็พบความน่ารักของการใช้วัสดุไม้ประดิษฐ์ของตกแต่งบ้านได้อย่างน่ารักมากมาย




การจัดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านดูเป็นสัดส่วนที่ลงตัว และมีความต่อเนื่องของพื้นที่และปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานได้ตามความต้องการ

 
เมื่อออกไปที่หลังบ้าน จะพบสวนขนาดใหญ่ที่ถูกจัดได้สวยงามมีระเบียบ น่านั่งเล่นมาก มีที่เหมาะสำหรับนั่งชิล ๆ กับการจัดเลี้ยงหรือชวนเพื่อนพ้องและครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันที่นี่ เมื่อได้ออกไปนั่งเล่นในสวนแล้วก็ไม่อยากจะลุกไปไหนเลย





จากนั้นก็เดินดูบ้านในละแวกนั้นและกลับมารับประทานอาหารกลางวันที่บ้าน อ.ตี๋เตรียมไว้ให้ (รู้งี้ไม่น่าซื้อข้าวเหนียวหมูทอดไว้เลย) จากนั้นเราก็ไปกันต่อที่สนามบินสุโขทัยที่เป็นสนามบินพาณิชย์ของบริษัท บางกอกแอร์เวย์ เมื่อไปถึงก็พบกับอาคารผู้โดยสารของสนามบินที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไทยที่ไม่เหมือนสนามบินใดในโลก เป็นอาคารชั้นเดียว ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ แต่มีความหรูหรามาก ๆ ของการตกแต่งอาคาร ออกแบบ โดยบริษัท แฮบบิต้า ซึ่งดึงเอาเอกลักษณ์ของหลังคาทรงไทย สมัยสุโขทัยมาใช้ รวมถึงใช้เจดีย์ทรงสุโขทัยเขามามีส่วนร่วมในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์และความประทับใจของผู้โดยสาร



อาคารเปิดโล่งรับลมมีลักษณะเป็นศาลาเนื่องจากสุโขทัยมีฝนตกน้อย มีพี่ ๆ พานั่งรถรางชมบริเวณรอบๆ สนามบิน ซึ่งสนามบินนี้ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศอย่างเต็มที่ และยึดถือหลักความพอเพียงของในหลวงในการบริหารโครงการมีการทำการเกษตร ปลูกพืชพรรณไม้เพื่อใช้ในการตกแต่งสวนหย่อมต่าง ๆ ในสนามบิน มีเรือนเพาะกล้วยไม้เป็นพืชส่งออกไปขายยังต่างประเทศที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย มีการปลูกข้าว เลี้ยงควาย ด้วยแนวคิดใหม่ของเจ้าของสายการบิน  คือการพัฒนาและจัดการครบวงจร ทำให้สร้างอาชีพแก่คนในชุมชน มีส่วนของพื้นที่สำหรับจอดจักรยาน สนามกีฬาชนิดต่าง ๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ไทยและพิพิธภัณฑ์จีน (รึเปล่านะ)



และเราก็ได้ไปชมโรงแรมที่อยู่ในเครือบางกอกแอร์เวย์ คือ โรงแรม สุโขทัยเฮอร์ริเทจ โดยดึงเอาเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทย สมัยสุโขทัย คือด้านหน้าเป็นอาคารก่อด้วยกำแพงหนา หลังคาทรงสุโขทัย ซุ้มประตูทางเข้าเป็นซุ้มประตูปูนปั้นสีขาว ด้านในเป็นอาคาร 2 ชั้นและแบ่งอาคารเป็น 2 ฝั่งมีการนำสระบัวและศาลากลางนำมาใช้เป็นโถงต้อนรับ ทำให้เกิดความรู้ศึกความเป็นไทยที่สัมพันธ์กับน้ำ ดูแล้วสวยงามน่ามาพักผ่อนมาก ๆ ฝ้าเพดานโถงตกแต้งด้วยโคมไฟน่ารัก ๆ มากมาย ดูทันสมัยแต่แฝงอยู่ในความเป็นไทย



จากนั้นเราก็ไปทานอาหารว่างกันและออกเดินทางต่อสู่หมู่บ้านที่ศรีสัชนาลัย เพื่อดูความงามของบ้านพื้นถิ่นจนพระอาทิตย์ตกดิน จึงเดินทางกลับสู่ที่พัก

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 7 ของทริป

วันนี้ก็อีกเช่นเคยเราก็ออกไปซื้อข้าวเหนียวหมูทอดอีกแล้ว ซื้อทุกวันจนแม่ค้าจำหน้าได้แล้วแน่ ๆ เลย เป็นอาหารสิ้นคิดไปซะแล้วเพราะสะดวกดี ชอบตรงที่เก็บไว้ได้นานกว่าอาหารกล่องด้วย และเดินทางไปยังอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เมื่อเข้าสู่อุทยานก็จะพบกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง และเรียกอีกชื่อว่า วัดพระปรางค์  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าศรีสัชนาลัย เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ และเป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรวิหาร มีโบราณสถานที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ลักษณะรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในสมัยอยุธยา  สัดส่วนการจัดวางผังของวัดนี้ดูมีความลงตัว เป็นสัดส่วนที่สวยงามดูมีระนาบและมีลำดับความสำคัญขององค์ประกอบต่าง ๆ ในวัด

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

จากนั้นไปต่อที่วัดโคกสิงคาราม เป็นโบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันเช่นเดียวกับวัดศรีสรรเพชญ์ ที่อยุธยา วิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง ผนังวิหารมีช่องแสง โบสถ์อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวิหาร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นภายในโบสถ์ปูด้วยศิลาแลง ความงามที่มองเห็นคือ การมองแบบวิชวล แสดงความเด่นชัดของเส้นระนาบทางตั้งและทางนอนอย่างกลมกลืนกัน

วัดโคกสิงคาราม

ระหว่างทางสู่วัดต่อไปก็มีแวะถ่ายรูปตามบ้านเรือนต่าง ๆ ในบริเวณที่รถวิ่งผ่านด้วย

บ้านเรือนชาวบ้าน

แล้วก็ไปหยุดที่วัดกุฎีราย โบราณสถานที่สำคัญของวัดคือมณฑปประกอบอาคาร (มณฑปวิหาร) ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง หลังคาใช้ศิลาแลงก่อเหลื่อมเข้าหากันเป็นทรงจั่วเลียนแบบเครือไม้  หน้าจั่วมีรอยบาก เพื่อเชื่อมหลังคาเครื่องไม้ของอาคาร ด้านหน้เามณฑปมีซุ้มประตูรูปโค้งกลีบบัวเป็นทางเข้าสู่ภายใน ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง

วัดกุฎีราย

จากนั้นก็แวะรับประทานอาหารกลางวัน และไปยังศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก เป็นเตาเผาถ้วยชามสังคโลกสมัยสุโขทัย ขนาดที่เห็นนั้นใหญ่มาก ๆ แถมเป็นเตาที่ลึกมากด้วยเครื่องปั้นดินเผาที่พบบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นประเภทถ้วยชามขนาดใหญ่

ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก

โครงสร้างหลังคาของที่นี่เป็นโครงสร้างเหล็กที่ดูแปลกตาดี ดูเหมือนโครงสร้างพันธะเคมี ฮ่าๆๆ

โครงสร้างหลังคาของศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก


แล้วเราก็ไปยังวัดเจดีย์เก้ายอด


สาเหตุที่มีชื่อนี้เป็นเพราะประกอบด้วยเจดีย์ประธาน มียอดเจดีย์อยู่ข้างบน 9 ยอด  อยู่บริเวณไหล่เขา  ซึ่งที่นี่ยุงเยอะมาก ๆ และเกาะแขนเกาะขาพร้อมกัดเราอยู่ตลอดเวลา สะบัดก็ไม่หนี โหดจริง ๆ  ทางขึ้นวัดด้านล่างเป็นบันไดหินต่อเนื่องขึ้นไป ก่อนถึงเขตฐานของวัด องค์ประกอบทุกอย่างเป็นศิลาแลงที่นำสายตาสู่เจดีย์  โดยที่มีธรรมชาติและบรรยากาศของภูเขาโอบล้อมรอบ ๆ บริเวณวัด เมื่อเดินไปรอบ ๆ ก็เห็นทางขึ้นวัดอยู่ถัดขึ้นไปเลยเดินขึ้นไปดู ก็เห็นวัดเจดีย์เอน

 
ที่มีชื่อนี้อาจเป็นเพราะเจดีย์ดูเหมือนเอนล่ะมั้ง อิอิ แล้วเราก็เดินขึ้นเขาต่อไปอีกก็พบวัดเขาใหญ่ล่าง

และวัดเขาใหญ่บนที่อยู่ขึ้นไปอีกซึ่งน่าเสียดายที่วัดนี้ปรักหักพังไปมากแล้ว เจดีย์ก็ยอดได้หายไปแล้ว น่าเสียดายจัง


จากนั้นก็ไปเดินลุยในเขตป้อมและประตูรามณรงค์ ดูวัดนางพญา


เป็นวัดที่มีลวดลายปูนปั้นงดงามมาก ปรากฏอยู่บนซากผนังวิหารเจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นจนถึงภายในโถงเจดีย์ ตรงกลางโถงมีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น วิหารก่อด้วยศิลาแลง ผนังวิหารเจาะช่องแสง ซึ่งลวดลายที่ยังคงประกฏอยู่นั้นดูแล้วสวยงามมาก

จากนั้นเราก็เดินกันต่อไปจนถึงวัดสวนแก้ว

วัดนี้ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเช่นกัน โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง ปัจจุบันองค์ระฆังได้พังทลายลง ด้านหน้ามีบันไดขึ้นไปจากมุขหลังของวิหารไปถึงเรือนธาตุเพื่อสักการะพระพุทธรูป ด้านเจดีย์ประธานมีวิหาร มีมุขด้านหน้า และด้านหลัง มีบันไดขึ้น 5 ทาง เสาวิหาร และกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง วัดนี้เป็นวัดที่มีบริเวณวัดกว้างขวางมาก 

และเดินชมโบราณสถานภายในอุทยานไปเรื่อย ๆ

จากนั้นก็เดินไปรอขึ้นรถกลับสู่โรงแรม ระหว่างทางก็ผ่านฝูงนกที่มีรังอยู่บนเขา มองเห็นฝูงนกเยอะมาก
 การมาอุทยานประวัติศาสตร์สัสัชนาลัยในวันนี้ได้ดูวัดเยอะมากจริง ๆ


วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 6 ของทริป

วันนี้ตื่นเช้ามาก็ซื้อข้าวเหนียวอีกแล้ว เตรียมตัวเดินทางไปเมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ความเป็นมาของคำว่า "ลับแล" นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่ เนื่องจากเป็นที่ ป่าดงหลบซ่อนตัวง่ายและภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในระหว่างเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมือง ถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย แต่ปัจจุบันมีถนนตัดผ่านทำให้สภาพป่าหมดไป ความลึกลับของเมืองจึงหายไป ตำนานลับแลนี้ช่างลี้ลับเสียจริง เริ่มแรกเราไปกันที่บ้านไผ่ล้อม ต. ไผ่เขียว ดูลักษณะของบ้านพื้นถิ่นของลับแล บ้านเรือนที่นี่มีการใช้รั้วปลูกพืชสวนครัวรั้วกินได้ด้วยนะ

บ้านพื้นถิ่นของลับแล


แล้วก็ไปกันต่อที่วัดดอนสัก เราพักรับประทานอาหารกลางวันกันในศาลาการเปรียญของวัด และได้ถวายเทียนพรรษายุคใหม่แก่วัด เป็นหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ซะด้วยคนคิดนี่ช่างประยุกต์ได้เข้ากับยุคสมัยจริง ๆ  ความโดดเด่นของวัดนี้คือบานประตูวัด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีลวดลายสวยงาม ติดตั้งเป็นบานประตูสำหรับวิหารวัดดอนสักสถาปัตยกรรมเชียงแสนปนสุโขทัย ตัวเสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกนกก้ามปู บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายกนกต่าง ๆ มีความอ่อนช้อยสวยงาม โดยบานซ้ายและขวานั้นไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดบานแล้วลวดลายมีความลงตัวเข้ากันได้สนิท ดูแล้วสวยงามจริง ๆ หลังคาวิหารวัดนั้นใช้ไม้สีธรรมชาติตกแต่งทำให้ดูมีความงามจากธรรมชาติแท้จริง ลวดลายไม้ต่าง ๆ ถูกแกะสลักอย่างอ่อนช้อยสวยงามรับกับผนังปูนสีขาวอย่างลงตัว
วัดดอนสัก

จากนั้นก็ไปถ่ายรูปบ้านพื้นถิ่นต่อ

บ้านพื้นถิ่น

และก็ไปยังวัดท้องลับแล

วัดทองลับแล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

แต่เกิดฝนตกหนักจึงไม่ได้เข้าไปถ่ายด้านในวัด  ต้องรีบทำเวลา แต่ก็มีแวะถ่ายรูปบ้านในบริเวณใกล้ ๆ วัดก่อนขึ้นรถ และก็ไปดูบ้านพื้นถิ่นของอุตรดิตถ์ตามเส้นทางไปเรื่อย ๆ แต่ก็มีฝนตกอยู่เป็นระยะ ๆ จึงเดินทางกลับ วันนี้เป็นวันที่เย็นสบายมาก ๆ และได้กลับโรงแรมที่พักเร็วเนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศไม่ค่อยอำนวยซักเท่าไหร่ ( แต่ก็แอบดีใจที่วันนี้กลับเร็วกว่าทุกวัน ฮ่าๆๆ )

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วันที่ 5 ของทริป

วันนี้ก็ตื่นเช้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอาหารเช้าและกลางวัน วันนี้ก็ซื้อข้าวเหนียวอีกเช่นเคย แล้วก็ออกเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  แต่ที่แรกที่ไปแวะคืออ่างเก็บน้ำสรีดภงส์หรือเรียกอีกชื่อว่าทำนบพระร่วง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านนอกอุทยานซึ่งเป็นพื้นที่เสมือนหลังคาที่รองรับน้ำฝนได้อีกด้วย

อ่างเก็บน้ำสรีดภงส์ หรือ ทำนบพระร่วง


ดูแล้วรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติที่โอบล้อมรอบตัวเรา อากาศบริสุทธิ์ เห็นท้องฟ้า ภูเขา แหล่งน้ำ ต้นไม้ ร่มรื่นชุ่มชื้นสบายตาและสบายใจมาก ๆ จนไม่อยากออกไปจากบริเวณนี้เลย ต่อมาก็ไปดูวัดในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยซึ่งวัดต่าง ๆ นั้นจะมีความงามจากหินศิลาแลงที่สมัยก่อนนำมาสร้างวัดซึ่งดูแล้วสวยงามมีคุณค่าของความเป็นโบราณสถานมีความเป็นระเบียบของการก่อเจดีย์แบบ wallbaring บ่งบอกถึงความตั้งใจและพยายามในการก่อสร้างของช่างไทยในสมัยสุโขทัย เริ่มจากวัดมังกรเป็นวัดแรก วัดนี้มีเจดีย์เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์  ส่วนของวิหารนั้นเห็นเพียงแต่เสาและพระพุทธรูปที่เหลือคงอยู่ แต่มีสภาพผุพังไปตามกาลเวลา ต่อมาได้ไปยังวัดมหาธาตุ เป็นวัดใหญ่ และวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ เจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง  ขณะที่เดินถ่ายภาพนั้นรู้สึกถึงความกว้างใหญ่ของวัดแห่งนี้เพราะเห็นเจดีย์และมณฑปอยู่มากมาย ในอาณาบริเวณวัด

วัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย


จากนั้นก็ไปแวะพักรับประทานอาหารกลางวันกันที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย อยู่ใกล้วัดพระพายหลวง ภายในอาคารเป็นศูนย์ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมทั้งจัดแสดงแบบจำลองของโบราณสถานต่าง ๆ ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

จากนั้นก็ไปต่อกันที่วัดพระพายหลวงเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วัดพระพายหลวงเป็นศูนย์กลางของชุมชน โบราณสถานทเก่าแก่ที่สุดของวัด คือ พระปรางค์ 3 องค์ เป็นปรางค์ประธานของวัด ก่อด้วยศิลาแลง ศิลปะเป็นเขมรแบบบายน แต่พระพุทธรูปที่ยังคงอยู่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ปรักหักพังไปมากแล้ว ดูแล้วน่าเศร้าสะเทือนใจอย่างมาก แต่มันก็เป็นสภาพที่พังไปตามกาลเวลา

วัดพระพายหลวง


ต่อมาก็ไปยังวัดศรีชุม

วัดศรีชุม
องค์พระอจนะ
 
ลักษณะของวิหารสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมลักษณะคล้ายมณฑป แต่หลังคาพังทลายลงมาหมดแล้ว เหลือเพียงผนังทั้งสี่ด้าน ผนังแต่ละด้าน ก่ออิฐถือปูนอย่างแน่นหนา ผนังทางด้านใต้มีช่องให้คนเข้าไปภายในเป็นช่องที่เล็กมาก ๆ เข้าได้เฉพาะคนที่ตัวเล็กมาก ๆ ด้วย หากเดินขึ้นไปตามทางบันไดแคบ ๆ ถึงผนังด้านข้างขององค์พระอจนะ หรือสามารถขึ้นไปถึงสันผนังด้านบนได้ ภายในช่องกำแพงตามฝาผนังมีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด เมื่อเดินตามช่องทางบันไดขึ้นไปจะโผล่บนหลังคาวิหารมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของเมืองเก่าสุโขทัยได้โดยรอบ
                เพราะเหตุใดวิหารวัดศรีชุมจึงมีความเร้นลับซ่อนอยู่อย่างนี้ อ.จิมมี่ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้วจะพบว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงทรงพระปรีชาสามารถในด้านปลุกปลอบใจทหารหาญ และด้านอื่น ๆ อีกมาก เพราะผนังด้านข้างขององค์พระอจนะมีช่องเล็ก ๆ ถ้าหากใครแอบเข้าไปทางอุโมงค์แล้วไปโผล่ที่ช่องนี้ และพูดออกมาดัง ๆ ผู้ที่อยู่ภายในวิหารจะต้องนึกว่าพระอจนะพูดได้ และเสียงพูดนั้นจะกังวานน่าเกรงขาม เพราะวิหารนี้ไม่มีหน้าต่าง แต่เดิมคงมีหลังคาเป็นรูปโค้งคล้ายโดม  ช่างเป็นเรื่องที่น่าทึ่งของคนในสมัยสุโขทัยเสียจริง!!

ความลับของวิหารวัดศรีชุม

ต่อมาก็เดินทางไปยังวัดศรีสวาย

วัดศรีสวาย

ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดมหาธาตุ รูปแบบศิลปะลพบุรี ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ดูแล้วนึกถึงพระปรางค์สามยอดเลย คงเพราะมีลักษณะของศิลปะลพบุรีนั่นเอง
จากนั้นก็เดินทางไปถ่ายรูปต่อตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับความเป็นพื้นถิ่นของบ้านเรือนใน จ.สุโขทัย ที่ผนังใช้วิชวลเส้นตั้ง-นอน มีการใช้ระนาบเล็ก-ใหญ่ตามความเหมาะสมจนเกิด space ที่สวยงามน่าประทับใจ จนพลบค่ำจึงเดินทางกลับ