วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติของ อาจารย์จิ๋ว(รศ. วิวัฒน์ เตมียพันธ์)

ประวัติของ อาจารย์จิ๋ว(รศ. วิวัฒน์ เตมียพันธ์)
                อาจารย์จิ๋ว(รศ. วิวัฒน์ เตมียพันธ์)เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔  สำเร็จการศึกษา สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต (สถาปัตยกรรม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                ในปี
พ.ศ. ๒๕๐๗ เริ่มเข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์ ที่วิทยาลัยวิชาการก่อสร้าง ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
                วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
                วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ขึ้นดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ ๙ สังกัดภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
                ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับชาติ เข้ารับพระราชทานรางวัลผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นประเภทบุคคลประจำปี ๒๕๔๐โดยการคัดเลือกของกรมศิลปากร
                ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับการคัดเลือกเป็นสถาปนิกดีเด่นในด้านสถาปนิกดีเด่นด้านวิชาการประจำปี โดยการคัดเลือกของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ในโอกาสที่สมาคมได้ก่อตั้งมาครบ ๗๐ ปี)
ปัจจุบันอาจารย์จิ๋ว เกษียณอายุราชการและเป็นข้าราชการบำนาญ แต่ด้วยวิญญาณของ ครูท่านคงรับภาระงานสอนให้แก่นักศึกษาในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท ของภาควิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน และภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. นอกจากนี้ท่านยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษหรือเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ ให้แก่ สถาบันการศึกษาที่สอนสาขาวิชาสถาปัตยกรรม ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ได้รับเชิญเป็นประจำ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันอื่นตามแต่โอกาส เช่นที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย ซึ่งท่านเคยรับไปบรรยายพิเศษเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานกว่า ๑๐ ปี
                รางวัลระดับชาติที่ได้รับ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ตามลำดับ) ดังนี้
- จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย
- ตริตราภรณ์มงกุฎไทย
- ตริตราภรณ์ช้างเผือก
- ทวิติยาภรณ์มงกุฎไทย
- ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก
- ปถมาภรณ์มงกุฎไทย (สายสะพาย)
- ปถมาภรณ์ช้างเผือก (สายสะพาย)
และได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒
ผลงานทางวิชาการ
1.บทความทางวิชาการ เรื่อง สาระของชนบทในบางมิติ ที่ต้องอาศัยการรู้แจ้งจากประสบการณ์ภาคสนามในหนังสือมรดกความงามของสภาพแวดล้อมท้องถิ่นไทยจัดพิมพ์โดย ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. ๒๕๔๗
2.บทความทางวิชาการเรื่อง สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทย ฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมกับการออกแบบปัจจุบันและความหมายของที่อยู่อาศัยตามโลกทัศน์ล้านนาโบราณเอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ ความหลากหลายของเรือนพื้นถิ่นไทยจัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๓
3.บทความทางวิชาการ เรื่อง เรือนพักอาศัย รูปแบบสำคัญของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นตีพิมพ์ในวารสาร อาษา เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑
4.ค้นคว้าเรื่อง สถาปัตยกรรมล้านนาและได้รวบรวมโดยเขียนหนังสือสถาปัตยกรรมล้านนาเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕
5.การศึกษาการใช้พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวเกาะสีชัง อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔
6.การศึกษาเพื่อจัดทำหุ่นจำลองสภาพการใช้พื้นที่ประวัติศาสตร์ป้อมเพชร ศูนย์ประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓
7.โครงการวิจัยรูปแบบเรือนพักอาศัยพื้นถิ่นของชุมชนไทยเชื้อสายมอญ ย่านคลองมอญ หัวตะเข้ เขตลาดกระบังเป็นการออกสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนาม ด้วยการออกไปสัมผัสยังสถานที่สำรวจ รวมไปถึงการสัมภาษณ์ และจดบันทึกข้อมูลด้วยภาพวาดลายเส้นทางสถาปัตยกรรม ของชาวมอญที่ตั้งบ้านเรือนบริเวณคลองมอญ คลองประเวศน์บุรีรมย์ตลอดไปจนถึงคลองลำปลาทิว ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒
8.เอกสารทางวิชาการ เรื่อง สังเขปความ การตั้งถิ่นฐานมนุษย์ในภาคอีสาน (และบางส่วนของลาว) ในเชิงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทางเอกสารและหลักฐาน ถึงรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)ใช้ประกอบในการสัมมนาเรื่องเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมอีสานจัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐
9.บทความทางวิชาการ เรื่องแนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเผยแพร่ในการอบรมแนวทางการศึกษาและวิจัยทางศิลปกรรมไทยของคณะมัณฑนศิลป์ร่วมกับคณะอนุกรรมการการวิชาการโครงการจัดตั้งหอศิลป ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
10.หนังสือสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นจัดพิมพ์โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ. ๒๕๒๕
11.งานวิจัยเรื่องเรือนเครื่องผูกชาวนา (โรงนา) ที่หมู่ ๑ ตำบลคอกกระบือ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครโดยงานวิจัยได้รับทุนอุดหนุนด้วยเงินงบประมาณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปี พ.ศ. ๒๕๒๔
12.สำรวจค้นคว้าเรื่อง รูปแบบอาคารที่พักอาศัยพื้นบ้านในชนบทของไทยทุกภาคพร้อมกับศึกษาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำมาเป็นข้อมูลการเรียนการสอนให้อนุชนรุ่นหลังมีความตะหนักถึงมรดกทางวัฒนธรรมไทย อันมีคุณค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้
13.เอกสารคำสอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ๑ เรื่อง อียิปต์ เมโสโปเตเมีย กรีก โรมัน คริสเตียนยุคแรกภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
                นอกจากนี้ อาจารย์จิ๋ว ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ รอบรู้ในศาสตร์แขนงอื่นอีกด้วย ที่พอกล่าวได้มีดังนี้ เช่น ในด้านศิลปะไทย, วัฒนธรรมประเพณีล้านนา, ประวัติศาสตร์, ชาติพันธุ์วิทยา, คติพื้นบ้าน, ตลอดจนในด้านดนตรีไทย เป็นนักดนตรีไทย (เป่าขลุ่ย) ท่านจึงได้รับเชิญเข้าร่วมสัมมนาหรือเป็นองค์ปาฐกในงานวิชาการระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ
1.เป็นวิทยากรบรรยายในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ ในงานสถาปนิก ๕๐ “International Seminar Architect’ 07: Leap to the Future” หัวข้อบรรยายวิถีไทยการดำรงอยู่บางประการผ่านวรรณศิลป์และดุริยางคศิลป์จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ศูนย์กลางการประชุมเมืองทองธานี เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
2.เป็นองค์ปาฐกในการสัมมนาทางวิชาการและการจัดแสดงผลงานภาพถ่าย ในหัวข้อโครงการ มรดกความงามของสภาพแวดล้อมท้องถิ่นไทยที่ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. จัดขึ้น เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗
3.เป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนาวิชาการ สัปดาห์วิชาการครั้งที่ ๑จัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๖
4.ร่วมสัมมนาวิชาการ ในงาน สถาปนิก๔๖ เรื่อง สุนทรียศาสตร์ทางด้านดนตรีจัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ศูนย์กลางการประชุมเมืองทองธานี ปี พ.ศ. ๒๕๔๖
5.เข้าร่วมประชุมทางวิชาการ เรื่อง ความหลากหลายของเรือนพื้นถิ่นไทยจัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พ.ศ. ๒๕๔๓
6.เป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนาวิชาการ สาระศาสตร์จัดโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒

ผลงานด้านการออกแบบ
1.ออกแบบอาคารทรงไทย และกลุ่มอาคารเรียนสองชั้น ภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปี พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๕

2.ออกแบบกู่ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ของพระราชอินทวิชยานนท์ บนยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

มุมมองเกี่ยวกับการศึกษาสถาปัตยกรรมของอาจารย์จิ๋ว
จะมุ่งเน้นไปที่การนำหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในปัจจุบัน
“การศึกษาเบื้องแรกนั้นจำต้องศึกษาค้นคว้าหาลักษณะของรูปแบบอาคารโดยการสำรวจ วัดขนาดอาคารที่จะค้นคว้านั้น ด้วยการเขียนร่างภาพ ถ่ายภาพเป็นข้อมูลเบื้องต้น ตามหลักการศึกษาของสถาปัตยกรรม จะต้องนำข้อมูลมาเขียนแบบละเอียด คือ แปลน รูปตัด รูปด้าน รูป ISOMETRIC หรือทัศนียภาพเพื่อศึกษาปริมาตรผิว (SURFACE) ตลอดถึงความสัมพันธ์ของเนื้อที่ภายในอาคาร เพราะทัศนียภาพและภาพ ISOMETRIC นั้นเป็นภาพที่แสดงความสัมพันธ์ของพื้นที่ผิวและเนื้อที่ว่าง (SPACE) ที่ห่างได้กระจ่างชัด เพราะแสดงภาพเป็น 3 มิติ ซึ่งถือว่าเป็นการนำแสนอข้อมูลที่สำรวจมานั้นมาจัดวางเข้าระบบทางวิธีการของสถาปัตยกรรม เพื่อจะใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์เนื้อหา และประเด็นที่ต้องการศึกษาในแง่มุมที่ต้องการศึกษาได้อย่างสะดวกแบบอาคารที่เขียนขึ้นมานี้ทำให้เราทราบชัดในเบื้องแรกคือ รูปลักษณะของอาคารที่เราต้องการนั้นเองเพื่อจะใช้สำหรับการตีความจากการวิเคราะห์ต่อไป
การวิเคราะห์เบื้องแรก คือ การวิเคราะห์หาเนื้อที่ใช้สอยโดย วิเคราะห์หาขนาดของพื้นที่ใช้สอยแต่ละประเภทของอาคาร วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของเนื้อที่ใช้สอย กิจกรรมที่เกิดขึ้นในเนื้อที่ใช้สอยตามมิติของเวลา และฤดูกาล และความสัมพันธ์ของกิจกรรมกับพื้นที่ใช้สอยตลอดถึงพฤติกรรมทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนอันเป็นผลมาจากคติความเชื่อ แบบแผนของการดำรงชีวิตที่สัมพันธ์หรือมีผลต่อกิจกรรมต่างๆอันเกิดขึ้นภายในอาคาร หลักการที่ใช้ในการวิเคราะห์นั้นต้องอาศัยจากการสังเกต(OBSERVATION) สัมภาษณ์ และเอกสารที่เกี่ยวกับคติความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ
วิเคราะห์จากระบบโครงสร้าง ธรรมชาติของวัสดุก่อสร้างที่มากำหนด วิธีการก่อสร้าง ระบบการระบายอากาศภายในอาคารการจัดสร้างระบบการระบายอากาศภายในอาคารการจัดวางพื้นที่ใช้สอย กับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ภูมิอากาศและทิศทางของแดดลม วิธีการแก้ปัญหาจากผลกระทบของธรรมชาติ การเลี่ยงแสงแดดการเปิดรับแสงแดด การเปิดรับลม วิธีเลี่ยงและป้องกันการสาดของแผนวิธีการป้องกันลมพายุ
เมื่อวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆแล้วเริ่มประเมินค่าของอาคารโดยสรุปค่าเป็น 3 หัวข้อ คือ คุณค่าของการแก้ปัญหาเรื่องประโยชน์ใช้สอย คุณค่าการก่อสร้างและการใช้วัสดุ ระบบวิธีของโครงสร้างที่ทำให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง ประการสุดท้ายคือการประเมินคุณค่าทางความงาม ได้แก่ ความสัมพันธ์ของระนาบกับพื้นที่ สัดส่วนของรูปทรง จังหวะของการเจาะช่องที่สัมพันธ์กับผนังทึบ คุณค่ารูปทรงที่เป็นมวล (MASS) ระเบียบของการตกแต่งระนาบต่างๆ ความสัมพันธ์ของเส้นสายรูปทรงในตัวอาคาร วิธีการเก็บรายละเอียดของส่วนต่างๆของอาคาร (FINISHED) ความสัมพันธ์ของพื้นที่ผิววัสดุที่ใช้กับอาคาร ผลของแสงเงาที่มีต่อรูปทรงของอาคาร การเลื่อนไหลของที่ว่าง (FLOWING OF SPACE) ภายในอาคารการจัดองค์ประกอบของรูปด้านวิธีการจัดองค์ประกอบของมวลที่เป็นรูปทรง (MASS) ความงามขององค์ประกอบพื้นที่ (COMPOSITION OF PLAN) ความสัมพันธ์ระหว่างที่ว่างภายในอาคารกับที่ว่างภายนอกวิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอาคาร กับสภาพแวดล้อมในเชิงองค์ประกอบทางความงาม ศึกษาส่วนอาคารตกแต่งให้มีคุณค่า (ARCHITECTURAL DECORATION)
การประเมินคุณค่าทางความงามอันเป็นประเด็นสุดท้ายนี้เป็นการวิเคราะห์ทางการจัดระเบียบขององค์ประกอบ แม้บางครั้งการจัดองค์ประกอบทางความงามของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไม่ปรากฏชัด แต่ขอให้ถือว่าเป็นการศึกษาเพื่อจะทำความเข้าใจ ในหลักขององค์ประกอบของชาวบ้านที่มีสำนึกและประสบการณ์อีกมิติหนึ่งที่ผู้ศึกษาจะพบ และเป็นการสร้างสำนึกที่จะเข้าถึงความงามระดับ ชาวบ้านที่มีศักยภาพสุนทรียรสต่างไปจากผู้ค้นคว้าเอง และทำให้เราทราบว่าความงามในระดับชาวบ้าน นั้นเป็นอย่างไร มีการจัดองค์ประกอบเช่นไร นักวิชาการศึกษาศิลปะมักลงความเห็นเป็นผลสรุปว่างานแบบพื้นถิ่นหรือพื้นบ้านนั้นเป็นงานที่ออกแบบเพื่อสนองประโยชน์ใช้สอย และการใช้งานในชีวิตประจำวันของชาวบ้านความงามนั้นมิใช่เป้าหมายหากแต่ความงามนั้นเป็นผลผลิตขั้นตอนสุดท้าย (THE END PRODUCTION) ของงานออกแบบเป็นความงามที่ตรงไปตรงมาไม่เสแสร้าง (SINCERELY CONCEIVED) เพราะเป็นงานที่ออกแบบให้เคารพต่อประโยชน์ใช้สอย และวัสดุก่อสร้าง อันพ้องกับความเห็นเกี่ยวกับความงามของลักธิ FUNTIONALISM ที่เสนอว่าความตรงไปตรงมาของการจัดระเบียบโครงสร้างการเคารพและซื่อตรงต่อวิธีการก่อสร้าง ตลอดถึงความงามที่มีอยู่ในวัสดุก่อสร้างเองนั้น เป็นคุณลักษณะทางสุนทรียภาพของการออกแบบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างจะรับรู้ได้ยาก เพราะเป็นความรู้สึกที่เป็นนามธรรม (ABSTRACT SENCE)
การค้นคว้าเรื่องสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนั้นจำต้องใช้ความรู้ที่เป็นหลักวิชาทางเหตุผลซึ่งเป็นลักษณะภาวะวิสัย (OBJECTIVE) ผสมผสานกับการใช้ความรู้ที่เป็นประสบการณ์อันจัดเป็นอัตวิสัย(SUBJECTIVE) หรือจิตนิยมควบคู่กันไป เพราะต่างก็เป็นวิธีการที่ได้รับความรู้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย การแสวงหาความรู้ที่มีลักษณะเป็นภาวะวิสัย หรือวิธีการทางวัตถุนิยมเป็นวิะการที่มีพื้นฐานอยู่บนเหตุผล (RATIONAL) ส่วนวิธีการที่เป็นอัตวิสัยนั้นมีพื้นฐานอยู่บนความรู้โดยฉับพลันของประสบการณ์ (INTUITIVE) ซึ่งต่างก็เป็นวิธีทางของภาระหน้าที่ๆ ต้องประกอบกันของสภาวะจิตของมนุษย์ (THE RATIONAL AND INTUITIVE ARE COMPLEMENTARY MODES OF FUNTIONING OF HUMAN MIND) แต่จากวงการศึกษาค้นคว้าของเราในปัจจุบันมักหลีกเลี่ยงวิธีการทางอัตวิสัย แบบความรู้ที่พลุ่งขึ้น (INTUITIVE) ว่าไม่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์แต่ความรู้ที่เป็นประสบการณ์ทางอัตวิสัยนั้นเป็นวิธีการที่เข้าใจ และเป็นความรู้ที่ใช้กับศิลปะและความงามอันเป็นเป้าหมายหลักของโลกวิจิตรศิลป์อีกอย่างหนึ่ง หากใช้วิธีการทางภาวะวิศสัยแนวเดียว การค้นคว้าก็มักจะหลีกเลี่ยงประเด็นหลักของศิลปะไปเสียเป็นไม่ก้าวล้ำลงสู่ความลึกซึ้งทางศิลปะ อันควรเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญและเป็นประเด็นหลักอีกประเด็นหนึ่ง วิธีการของการศึกษาศิลปะนั้นไม่ถือว่าใครผิดใครถูก เป็นสิทธิที่ศิลปินจะมีความคิดและความเชื่อแตกต่างกันไป และศิลปะมีสภาวะอัตนัย(อัตวิสัย) มากที่สุดในกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ก็เพราะว่าศิลปะนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของความรู้สึกนึกคิดจินตนาการเป็นอย่างมาก การสร้างสรรค์งานศิลปะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ ความบันดาลใจความรู้สึกนึกคิดจินตนาการ การทำงานศิลปะคือ การแสดงออกหรือการเอาออก จากการสั่งสมทั้งภายในและภายนอก ศิลปินไม่ถือว่าวัตถุสำคัญกว่าจิตใจ วัตถุไม่ใช่สิ่งสูงสุดและสิ่งถาวร ข้อมูลทางวัตถุอาจเป็นข้อมูลเบื้องต้น ศิลปินจินตนาการจากข้อมูลหรือแบบได้ศิลปินจำนวนมากหาข้อมูลโดยประสบการณ์ และความจำขณะที่เขาเขียนภาพเขาเขียนด้วยการแสดงออกเต็มที่และฉับพลันโดยไม่ต้องอาศัยข้อมูลที่เป็นวัตถุเลย วิทยาศาสตร์นั้นเพ่งเล็งเอาใจใส่สิ่งที่เป็ฯสัญลักษณ์เพียงชนิดหนึ่ง เพื่อมีความมุ่งหมายบรรยายลักษณะความจริงแท้ที่แน่นอน แต่วิทยาศาสตร์ก็ได้ละเลยและขาดระบบสัญลักษณ์อีกหลายอย่างโดยเฉพาะระบบสัญลักษณ์ของโลกศิลปะ ศิลปะนั้นไม่สามารถให้ความรู้ในทางพรรณนาหรือการบรรยาย แต่เป็นความรู้สึกที่แสดงออกโดยตรงในเรื่องราวของความจริงอีกประเภทหนึ่ง ศิลปะ คือ รูปแบบที่แสดงให้ปรากฏได้ (COMCRETIZE) ของปรากฎการณ์(PHENOMENAL) อันซับซ้อนหรือสถานการณ์ของชีวิต (LIFE SITUATION) เราอาจจะศึกษาศิลปะในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่การศึกษาโดยวิธีการนี้ไม่สามารถที่จะหาสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์ แต่การศึกษาโดยวิธีการนี้ไม่สามารถที่จะหาสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์มาแทนระบบสัญลักษณ์ของศิลปะได้แม้กระทั่งเกณฑ์ สำหรับการพิจารณาทางความจริง หรือสัจจะ (TRUTH) ที่จะมาเชื่อมศิลปะเนื่องด้วยแนวความคิดทางความจริงอันเป็นปกติของ(วิทยาศาสตร์) เรานั้นได้ถูกสมมติล่วงหน้าจากระเบียบเหตุผล ทางตรรกวิทยาของภาวะวิสัยล้วนๆ ส่วนศิลปะนั้นเป็นระบบสัญลักษณ์ที่ไม่มีการพรรณนาความ (NON-DESCRIPTIVE SYNDOL SYSTEMS) ฉะนั้นศิลปะจึงไม่ใช่สิ่งที่ให้ความรู้แต่ให้ประสบการณ์และแนวทางสำหรับพฤติกรรมแก่มนุษย์
ด้วยเหตุฉะนี้การศึกษาค้นคว้าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นก็มีความมุ่งหมายเพื่อสืบเสาะหาเค้าเงื่อนของปัญหาในการดำรงชีวิตของคน ระดับชาวบ้านทั่วๆไปในแง่ที่กำบังเพื่อพำนักอาศัย (SHELTER) ยังผู้ค้นคว้าได้ทราบชัดถึงอัจฉริยภาพในการแก้ปัญหาของปัญญาชาวบ้าน อันเป็นปัญญาที่เป็นตัวแทนของกลุ่มชน (COMMNUAL INTELLECTUALS) ที่ปกติมักถูกละเลยและมองข้ามบางครั้งก็ดูหมิ่นดูแคลน เพราะถือว่าเป็นการแก้ปัญหาด้วยความบังเอิญ ซึ่งสถาปนิกผู้รู้บางท่านได้เคยกล่าวตำหนิเอาไว้ แต่โดยแท้จริงแล้วคือสิ่งที่แสดงพลังสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ของประชาชนในแต่ละวัฒนธรรม เมื่อผู้ศึกษาค้นคว้าได้กระโจนลงสู่สายสาครของการศึกษาของกระแสธารนี้แล้ว ก็เท่ากับได้แหวกว่ายลงไปในกระแสความคิดของหมู่ชนที่ได้สถาปนาสภาพแวดล้อมให้มีคุณภาพ และเสริมประสิทธิภาพให้แก่ชีวิตด้วยความงามตามอัตภาพของธรรมชาติแวดล้อม จะเห็นการต่อสู้ของมวลมนุษย์กับสภาพดินฟ้าอากาศอย่างทรหดอดทน ทั้งยังเป็นระบบของการสะสมความรู้ของกลุ่มที่น่าศึกษา เป็นการเสริมภาพรวมของมนุษย์ให้กระจ่างขึ้น ทำให้เข้าใจความหมายของชีวิตในมุมกว้างและลึก เกิดความรักในมนุษย์เพิ่มขึ้นไปอีกเพราะเป็นการหาประสบการณ์ของมนุษยชาติ และบางครั้งความรู้และประสบการณ์ของชาวบ้านที่หลงเหลือในปัจจุบัน ในรูปของประเพณีโบราณบางประการนั้น ได้รับการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่องสืบมาเป็นเวลายาวนานเลยลึกเข้าไปในอดีตที่แสนไกล บางทีจะถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์เลยก็ได้”
มุมมองของข้าพเจ้าต่ออาจารย์จิ๋ว
อาจารย์จิ๋วท่านเป็นผู้มองสถาปัตยกรรมได้อย่างทุลุปรุโปร่ง สามารถวิเคราะห์สิ่งที่ตาเห็นออกมาในรูปแบบ จุด เส้น ระนาบ มองเห็นความงามของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น นอกจากรูปทรงที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนภายนอกตามวัฒนธรรมเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นแล้ว ยังมองเห็นว่ามีความงามโดยมองเป็นจุด เส้น ระนาบแล้วเห็นว่าแต่อาคารละหลังนั้นมีความงามพิเศษเฉพาะตัวอย่างไร และมีความสามารถในการนำเอาจุด เส้น ระนาบจากอาคารพื้นถิ่นมาประยุกต์กับการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว ซึ่งข้าพจ้ารู้สึกชื่นชมความสามารถของท่านเป็นอย่างมาก
สำหรับการสอนของอาจารย์จิ๋ว ท่านจะรอให้ลูกศิษย์มาให้ครบทุกคนก่อนจึงจะเริ่มสอน เนื่องจากความเป็นห่วงลูกศิษย์ ว่าถ้าหากไม่ได้มาเรียนรู้ในสิ่งที่ท่านสอน จะไม่ได้รับความรู้เท่าเทียมกับเพื่อน ๆ ทำให้เสียผลประโยชน์ ขาดความรู้ที่สำคัญมากไปอย่างน่าเสียดาย เป็นความคิดที่น่ายกย่องชื่นชมกับความรัก ความเป็นห่วงลูกศิษย์ของท่านจริง ๆ

2 ความคิดเห็น:

  1. เห็นว่า shocktrip น่าจะได้ปนะชาสัมพันธ์ในวงกว้างขึ้น เพื่องานที่เป็นประโยชน์ในแวดวงการศึกษาสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของเรา
    James Srisompong
    ม.พะเยา

    ตอบลบ
  2. เห็นว่า shocktrip น่าจะได้ปนะชาสัมพันธ์ในวงกว้างขึ้น เพื่องานที่เป็นประโยชน์ในแวดวงการศึกษาสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของเรา
    James Srisompong
    ม.พะเยา

    ตอบลบ