วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สัมภาษณ์สถาปนิก “IDOL รุ่นพี่สถาปัตย์ลาดกระบัง”

 
งาน assignment ชิ้นที่ 4 จาก อ.ไก่ ในวิชา Professional Practice ให้สัมภาษณ์เรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพสถาปนิก ฉันจึงได้สืบถามจากรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว เป็นเจ้าของออฟฟิศที่รุ่นพี่เค้าได้ไปฝึกงานด้วย ซึ่งฉันคิดว่าต้องเป็นสถาปนิกที่เก่งมากๆ เพราะสามารถเปิดออฟฟิศตั้งแต่อายุยังไม่มาก และบริหารงานของออฟฟิศได้ดีมาจนปัจจุบัน ออฟฟิศนี้มีชื่อบริษัทว่า บริษัทจันทิมาพร รุ่นพี่ได้บอกว่า เจ้าของออฟฟิศ คือ พี่ตั้ม เป็นสถาปนิกที่เรียนรุ่นเดียวกับอาจารย์ไก่(รุ่น12) ฉันจึงโทรไปหาพี่ตั้มเพื่อขอสัมภาษณ์ เมื่อโทรติดต่อไปขอสัมภาษณ์ พี่ตั้มก็ตอบตกลงอย่างเป็นกันเองพร้อมกับพูดว่า "ทำไมตอนผมมาที่คณะไม่มาขอสัมภาษณ์ล่ะ" ฉันก็เริ่มสงสัยว่าพี่ตั้มมาที่คณะตอนไหน แต่ก็ไม่กล้าถามอะไรในตอนนั้น เมื่อถึงวันที่ไปสัมภาษณ์ก็ได้นัดเจอกันที่ออฟฟิศของพี่ตั้ม ปรากฏว่าพี่ตั้มมีชื่อว่า ชินวร เวียงวิเศษ ผู้ที่ได้รับเชิญมาเป็นอาจารย์พิเศษวิชาคอนสตัครเจอร์ปี 5 ซึ่งเป็นปีแรกที่พี่ตั้มได้รับเชิญให้มาเป็นอาจารย์พิเศษ แต่พี่ตั้มไม่เคยได้เป็นผู้บรรยายในชั้นเรียน คลาสแรกที่พี่ตั้มสอนนั้นเราก็ได้ไปเปิดหูเปิดตากันที่ SCG experience กับอีกคลาสก็ได้เชิญวิทยากรมาแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ประเภทฝ้าเพดานที่มีน้ำหนักเบา ผู้ที่คุ้นเคยกับพี่ตั้มจะมีเพียงเพื่อนกลุ่มที่ตรวจแบบกับพี่ตั้มนั่นเอง ฉันไม่แน่ใจว่าพี่ตั้มจะถือว่าเป็นผู้สอนของมหาวิทยาลัยหรือเปล่า จะเข้าข่ายบุคคลที่ห้ามสัมภาษณ์มั้ย พี่ตั้มก็บอกกับฉันว่า "สัมภาษณ์พี่ได้อยู่แล้วแหละ"อย่างอารมณ์ดี ก่อนที่จะเริ่มสัมภาษณ์ พี่ตั้มได้พาไปที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งใกล้ๆออฟฟิศ เป็นร้านผัดซีอิ๊วโบราณเจ้าประจำของพี่ตั้ม และสั่งอาหารไว้ก่อนเพราะขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงพอดี แล้วจึงเริ่มสัมภาษณ์ในระหว่างที่กำลังรออาหาร


ขออนุญาติถามตามหัวข้อของอาจารย์ไก่เลยนะคะ
1. ประวัติส่วนตัวเล็กน้อย เรียนจบปีไหน ไปต่อโท ที่ไหน ทำงานอะไรที่ไหน ลักษณะงานการปฏิบัติวิชาชีพ ทำอะไร?
"เรียนที่โรงเรียนเทพศิริทร์ในชั้นมัธยม จากนั้นศึกษาปริญญาตรีที่พระจอมเกล้าลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาตร์  เมื่อปี 2527 เข้าเรียนรุ่นเดียวกับอาจารย์ไกรทอง และศึกษาต่อปริญญาโทที่สถาบันเดิม สาขาวิชา สถาปัตยกรรมเขตร้อน เมื่อปี 2538 จบการศึกษาเมื่อปี 2545 ในระหว่างเรียนนั้น ทำงานควบคู่กันไปด้วย เมื่อจบใหม่ได้ทำงานกับบริษัท จีทีดีไซน์ ซึ่งไม่รู้ว่ายังมีบริษัทนี่อยู่รึปล่าวในปัจจุบัน แถวสี่แยกพระพรหม ตึกเกสรพลาซ่า ทำงานได้เพียง 6เดือน ก็โดนไล่ออก และเอาเงินเดือนผมไปให้เพื่อนผม(หัวเราะ) แต่เพื่อนผมก็ออกมาด้วยกัน เพราะเค้าไม่ชอบหน้าผม เพราะไปรู้ความลับของนายเยอะเกินไป เพราะฉะนั้นเป็นลูกน้องอย่าไปรู้เรื่องของนายเยอะ ชีวิตจะสบาย รู้ก็ทำเป็นไม่รู้ รู้แต่สิ่งดีของนาย สิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ต้องไปรู้  เพราะว่ามันไม่ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นแน่ๆ และมาทำงานที่โรงแรมเอราวัณ ซึ่งตอนนั้นกำลังก่อสร้าง ได้ทำงานคุมไซต์ของโรงแรมเอราวัณ หลังจากคุมงานในไซต์ 2ปี จนจบโครงการ ก็ได้เข้ามาทำงานบริษัทเข็มเจาะ เป็นบริษัทเล็กทำงานเกี่ยวกับรับเหมา ทำเองกับเพื่อนๆและพี่ ทำมาเรื่อยๆ ทำอยู่นาน จนถึงปีที่ฟองสบู่ระเบิด ตอนปี38-40 เนี่ย ตอนนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ วงการธุรกิจก่อสร้างก็ซบเซา งานก็โดนเบี้ยว ลูกค้าเก็หนีไม่จ่ายเงิน ก็เลยชะลองานด้านนี้ไป ตอนนั้นก็เริ่มไปเรียนปริญญาโท เพราะไม่มีอะไรทำ และทำงานไปก๊อกๆแก๊กๆ ก็เริ่มจริงจังกับงาน พอเราทำงานก่อสร้าง ทำงานเข็ม มันก็มีประโยชน์อย่างหนึ่งว่า เราจะรู้เรื่องของโครงสร้างของการทำงานจริงเลยเยอะ ว่าออกแบบเงี๊ยทำยากหรือทำง่าย โชคดีที่ผมไปทำงานที่เอราวัณ ได้เห็นไซต์ เจ้านายเค้าสอนงานดีมากเลย เพราะจบใหม่ๆเราไม่รู้เรื่องเลย  เค้าจะให้โน๊ตทุกเช้าบอกว่าเราต้องทำอะไร  เปิดบริษัทเองหลังจากจบโครงการที่เอราวัณได้ซักพักก็คือบริษัททำเข็มเจาะเล็กกับทำพวกรับเหมาอะไรมากกว่า แล้วก็จดทะเบียนเพิ่มเป็นบริษัทออกแบบ แต่ทำได้จริงจังหลังจากปี 40 มา เพราะในความคิดคือตอนเป็นผู้รับเหมาเวลาโดนเบี้ยวเราก็เข้าเนื้อ ในจรรยาบรรณเราต้องคิด มันเป็นวิชาชีพเรา เราควรจะได้ค่าเหนื่อยเต็มที่  แต่เรื่องเบี้ยวก็เป็นเรื่องของธุรกิจ เป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น
2. งาน หรือ ผลงานของพี่ที่ไปสัมภาษณ์นั้น ที่พี่เขาคิดว่า เป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติวิชาชีพ คืออะไร อุปสรรคในการปฏิบัติวิชาชีพคืออะไร?
งานที่ผมชอบตอนนี้ คืองานออกแบบเป็นอาคารส่งเสริมประสบการณ์วิชาชีพของที่ราชภัฏพระนคร ที่เพิ่งทำเสร็จเป็นอาคารกึ่งทรงไทย  งานที่กำลังจะ renovate สถาบันอาหารผมก็ชอบ โรงงานในนิคม ส่วนใหญ่งานที่ผมทำจะเป็นโรงงานซะเยอะ ก็ชอบ แต่มันจะไม่สวย โรงงานแอมพาสผมก็ชอบ แล้วก็มีรีสอร์ทที่สมุยที่ผมออกแบบไว้ แต่มันยังไม่สร้าง อันนั้นผมก็ชอบ งานที่ผมชอบสุดๆคงไม่มี เพราะผมก็ชอบทั้งนั้น ณ เวลานึงเราก็ชอบแบบนึง 
ส่วนอุปสรรคในการประกอบวิชาชีพมันก็เป็นเรื่องการ Operate คน ไม่ว่าจะเป็นคนของเราหรือคนของเค้า และความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ของบุคลากรทั้งในและนอกที่เราร่วมงาน การติดต่อสื่อสารระหว่างเรากับลูกค้า หรือระหว่างเรากับทีมงาน ก็เป็นปัญหา มันก็ต้องปรับ tune นะ ให้เหมาะสมตามสภาพการทำงานในแต่ละครั้ง เพราะมันไม่มีความแน่นอน ต้องให้ความร่วมมือกัน ของผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา และลูกค้า ผมว่าการทำงานของเราต้องอาศัยความยืดหยุ่น ที่สำคัญคือความร่วมมือกันตั้งแต่เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาตรวจสอบงาน จะทำให้งานออกมาดี พวกการประมูลงานราชการต่าง ๆ มันก็ชอบมีใต้โต๊ะ บนโต๊ะ  มันก็ควรจะหมด ๆ ไป แต่เหมือนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยไปแล้ว ซึ่งตอนนี้ผมก็เริ่มกลมกลืน รับสภาพได้ งานอิสระไม่จำเป็นต้องใหญ่โต เราก็หาช่องทางได้
3. ข้อคิดที่สำคัญในการ ทำงานคืออะไร? การปฏิบัติตนต่อการทำงานทำอย่างไร?
ข้อคิดที่สำคัญในการ ทำงานก็น่าจะเป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อหน้าที่  การเป็นผู้นำที่ดี  การปฏิบัติต่อวิชาชีพ  เราต้องทุ่มเท  ไม่ว่ามันจะยากลำบาก ปวดหัว มีปัญหายังไง  ถ้าเราทุ่มเท มีสมาธิกับมัน  ก็จะทำให้งานดำเนินไปได้  ต้องกัดฟันทนอยู่กับมัน คิด ๆ เขียน ๆ ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวมันก็จัดระเบียบ จนเจอทางออกของมันเอง  มีคำของสถาปนิกรุ่นใหญ่ คุณเล็ก บุญนาค พูดถึงดวงตาที่สาม ดวงตาที่มองเห็นความงาม ก็เป็นสิ่งที่ผมเอามาคิดนะ ว่าตาที่สามคือเราไม่ได้มองแบบตา มิติเดียวกว้างคูณยาวคูณสูง แต่เรามองความผสมผสานของรูปแบบศิลปะที่มันกลมกลืน ไม่ต้องแบ่งแยก ภายนอกภายใน ซึ่งพูดได้ดีมาก
4. คิดเห็นอย่างไรกับ จรรยาบรรณวิชาชีพ คิดเห็นอย่างไรกับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม
คืออาชีพเราเป็นอาชีพที่มีผลได้ผลเสียกับคนส่วนรวม  เหมือนคนที่เป็นหมอเป็นทนาย ซึ่งมีไม่กี่อาชีพที่ได้เงินลูกค้าแล้วลูกค้ายังเอาใจอยู่ เพราะลูกค้าที่จ้างเรากลัวว่าจะคิดให้เค้าน้อย คิดงานไม่ค่อยดี พวกซัพพลายเออร์ก็ชอบมาเอาอกเอาใจพวกผู้ใหญ่ ชวนไปตีกอล์ฟ อาชีพเราเป็นอาชีพที่มีเกียรตินะ สมัยก่อนผมเข้ามาเรียนลาดกระบัง ตอนนั้นก็มีแต่ศิลปากรกับจุฬา คนที่เรียนก็มีหน้ามีตาในสังคม
สิ่งแวดล้อมมันก็เป็นกระแสที่กำลังมาตอนนี้นะ มันเป็นสิ่งที่ดี แต่ผมรู้สึกว่าเป็นอาวุธที่ฝรั่งจะหลอกเรา ถ้าใครบอกว่าไม่ดีตอนนี้ก็คงเป็นคนชั่วอ่ะนะ คำถามนี้มันไม่ต้องตอบหรอก มันไม่มีความหมาย แม้จะไม่เห็นด้วยแต่ก็ต้องบอกว่าดี แต่ว่าดียังไงเนี่ย ผมบอกว่ามันคุ้มกับที่เราไปลงทุนกับมันมั้ยในบางอย่าง แต่ว่าโอเคกับการคำนึงถึงพื้นฐานในการออกแบบ เช่นพวก orientation คำนึงถึงแดดลมฝน ซึ่งสถาปนิกธรรมดานั้นคิดกันอยู่แล้ว ซึ่งตอนหลังๆ มันจะเป็นเรื่องของธุรกิจที่เป็นจุดขาย พวกมาตรฐาน LEED แบบนี้หรืออะไรต่าง ๆ ที่มันกลายเป็นภาระของการออกแบบ บริษัทเล็ก ๆ ก็สู้ไม่ได้ ก็คล้าย ๆ กลายเป็นว่าทำกรอบมาบล็อคคนกลุ่มนึง เราต้องจ้างฝรั่งมาทำงาน ผมว่าที่เคยออกแบบกันมามันก็ดีอยู่แล้ว คงไม่มีใครไปทำอะไรแปลก ๆ เกินไปหรอกนะ
หลังจากสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้วอาหารก็มาเตรียมพร้อมอยู่ตรงหน้า จึงจบการสัมภาษณ์แล้วรับประทานอาหารกันด้วยความเอร็ดอร่อยพร้อมพูดคุยกันทั้งเรื่องที่มีสาระและเรื่องอื่น ๆ ทั่วไปด้วยความเป็นกันเองของพี่ตั้มทำให้การสนทนากันวันนี้ราบรื่นและสนุกสนานพร้อมความอิ่มของการรับประทานอาหารมื้อกลางวันและยังมีห่อให้ฉันเอากลับมากินอีกด้วย ต้องขอขอบพระคุณพี่ตั้มเป็นอย่างสูงที่สละเวลาพร้อมกับเลี้ยงอาหารมื้อเที่ยงและการพูดคุยที่เป็นกันเองของพี่ตั้มนะคะ
ตัวอย่างผลงานของออฟฟิศพี่ตั้ม